ลาเบทาลอล (Labetalol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลาเบทาลอล (Labetalol) เป็นยาในกลุ่ม Adrenergic antagonist (ยาต้านการทำงานของ ตัวรับแอดรีเนอร์จิก/Adrenergic receptor) ใช้บำบัดอาการความดันโลหิตสูงแบบฉุกเฉิน หรืออาการความดันโลหิตสูงที่เกิดหลังการผ่าตัด หรือช่วยลดความดันโลหิตสูงที่กลับมาเป็นใหม่หลังหยุดการใช้ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker) บางกรณียานี้ยังถูกใช้ลดความดันโลหิตสูงของสตรีตั้งครรภ์อีกด้วย

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาลาเบทาลอลที่พบเห็นการใช้ในประเทศไทยจะเป็นยาฉีดแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ โดยเมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 50% ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 5.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาลาเบทาลอลออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ทางคลินิกสามารถใช้ยาลาเบทาลอลในลักษณะยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะก็ได้ และมีเงื่อนไขบางประการที่แพทย์ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจว่าจะใช้ยาลาเบทาลอลกับผู้ป่วยหรือไม่ เช่น

  • ผู้ป่วยต้องไม่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • เป็นผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น หัวใจล้มเหลว หรือมีค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/ECG ผิดปกติ หรืออยู่ในภาวะช็อก การเจ็บป่วยดังกล่าวล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาลาเบทาลอลได้ทั้งสิ้น
  • มีประวัติเป็นโรคหืด มีภาวะระบบทางเดินหายใจอุดตัน หรืออยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือหัวใจเต้นช้าผิดปกติ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาลาเบทาลอล
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆแทบทุกประเภทซึ่งรวมยาลาเบทาลอลด้วย เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาเกือบทุกประเภท
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเรื่องเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma) ผู้ที่มีปัญหาของตับของไต หรือโรคต่อมไทรอยด์ ก็อาจได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ได้มาก กว่าผู้ป่วยทั่วไป

นอกจากนี้การใช้ยาลาเบทาลอลร่วมกับยาบางกลุ่มอาจส่งผลให้เกิดภาวะยาตีกัน (ปฏิกิริยาระหว่างยา) อาทิเช่น

  • ยากลุ่ม Calcium channel blockers, Cimetidine, Digoxin ซึ่งยาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากลาเบทาลอลเพิ่มมากขึ้น
  • ในขณะที่การใช้ยาลาเบทาลอลร่วมกับยาสลบอย่างเช่นยา Halothane Nitroglycerin ยาต้านอารมณ์ซึมเศร้า อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้ได้มากขึ้น หรือ
  • การใช้ยากลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ (Beta-agonists) ร่วมกับยาลาเบทาลอลจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเบต้า อะโกนิสต์ด้อยประสิทธิภาพลงไป

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่และความจำเป็นที่แพทย์ต้องทราบประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วยทุกประเภทก่อนที่จะทำการสั่งจ่ายยาลาเบทาลอล

ยาลาเบทาลอลเป็นอีกหนึ่งรายการยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยมีเงื่อนไขการใช้สำหรับลดความดันโลหิตสูงแบบฉุกเฉินในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถใช้ยา Hydralazine ได้

ยาลาเบทาลอลจัดอยู่ในหมวดยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การกำกับของแพทย์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

ลาเบทาลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลาเบทาลอล

ยาลาเบทาลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต
  • ใช้ลดความดันโลหิตสูงแบบฉุกเฉิน (Hypertensive emergency)
  • ใช้บำบัดอาการในผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma

ลาเบทาลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลาเบทาลอลมีกลไกออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ (Receptor) ทั้งชนิด Alpha1-adrenergic receptor และชนิด Beta adrenergic receptor จึงส่งผลลดการกระตุ้นของสารสื่อประสาทที่มีต่อกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดลม และหลอดเลือด จนเป็นผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ลาเบทาลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลาเบทาลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาฉีดขนาด 25 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 100, 200 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด ซึ่งสำหรับยาเม็ดปัจจุบัน จะพบเห็นการใช้แต่ในต่างประเทศ

ลาเบทาลอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาลาเบทาลอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับยาฉีด: ในประเทศไทยจะพบเห็นการวางจำหน่ายยาลาเบทาลอลในรูปแบบของยาฉีดซึ่งต้องใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ขนาดการบริหารยา/การใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไปโดยขึ้นกับความรุนแรงของอาการความดันโลหิตสูง จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยานี้ในบทความนี้

ข. สำหรับยาเม็ดสำหรับลดความดันโลหิตและบำบัดอาการผู้ป่วยโรค Pheochro mocytoma:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นหลังอาหาร ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 200 - 400 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ แพทย์จะลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับร่างกายผู้ป่วย
  • ประเทศไทยจะพบเห็นการวางจำหน่ายยานี้ในรูปแบบของยาฉีดซึ่งต้องใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลาเบทาลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาและ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาลาเบทาลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลาเบทาลอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลาเบทาลอลตรงเวลา

ลาเบทาลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาลาเบทาลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว บวมตามร่างกาย หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น อาจก่อให้เกิดภาวะหยุดหายใจได้
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน กล้ามเนื้ออ่อนแรง วิงเวียน ง่วงนอน ฝันร้าย ตัวสั่น ตาพร่า
  • ผลต่อตับ: เช่น อาจพบดีซ่านหรือภาวะตับอักเสบได้บ้าง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น อาจทำให้มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีภาวะปัสสาวะขัด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคัน

*อนึ่งสำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หลอดลมหด เกร็งตัว หัวใจล้มเหลว หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ลาเบทาลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลาเบทาลอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อก ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นช้าหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคของหลอดลม/โรคปอด ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ รวมถึงผู้ป่วยโรคตับ
  • ผู้ป่วยต้องแจ้งประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว รวมถึงมีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้างให้แพทย์ รับทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาด้วยยานี้
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลาเบทาลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลาเบทาลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลาเบทาลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาลาเบทาลอลร่วมกับยา Epinephrine จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Epine phrine ด้อยลงดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาลาเบทาลอลร่วมกับยา Aminophylline จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาลาเบทาลอลลดลง ในขณะที่ผลข้างเคียงจากยา Aminophylline กลับมีมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาลาเบทาลอลร่วมกับยา Atazanavir อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาลาเบทาลอลร่วมกับยา Diltiazem ด้วยจะนำมาด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม มือเท้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาลาเบทาลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาลาเบทาลอลในช่วงอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ลาเบทาลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลาเบทาลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Avexa (อะเวซา)Great Eastern
Trandate (แทรนเดท)A.Menarini

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกเช่น Normodyne

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Labetalol [2016,July2]
  2. https://www.drugs.com/cdi/labetalol.html [2016,July2]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/labetalol/?type=brief&mtype=generic [2016,July2]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/labetalol-index.html?filter=3&generic_only= [2016,July2]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/avexa/ [2016,July2]