ลาสซาฟีเวอร์ (ตอนที่ 2)

ลาสซาฟีเวอร์

การแพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คน เกิดขึ้นจากการที่ของใช้หรืออาหารถูกปนเปื้อนด้วยมูลหรือปัสสาวะของสัตว์จำพวกหนู (Multimammate rats / Mastomys natalensis) ที่อาศัยอยู่ทั่วแอฟริกาตะวันตก

โดยคนจะติดเชื้อได้ด้วยการหายใจเอาละอองจากของเสียที่หนูขับถ่ายออกมา (Rodent excretions) การกินอาหารหรือการใช้ภาชนะที่มีเชื้อ หรือติดเชื้อทางแผล/เยื่อเมือกบุผิว (Mucous membranes)

ส่วนการติดเชื้อจากคนสู่คนมีน้อย อาจเกิดขึ้นได้ผ่านทางเครื่องมือแพทย์ที่ติดเชื้อ เช่น การใช้เข็มติดเชื้อที่ใช้แล้ว (Re-used needles)

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิต ได้แก่ หญิงมีครรภ์ในไตรมาสที่ 3 โดยอัตราทารกที่เสียชีวิตในครรภ์ (Stillbirth) มีประมาณร้อยละ 95

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อร้อยละ 80 จะไม่แสดงอาการ (Asymptomatic) แต่ที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะมีอาการแทรกซ้อน

ระยะเวลาฟักตัวของโรคอยู่ที่ 6-21 วัน แล้วจึงป่วยแบบเฉียบพลันในอวัยวะหลายส่วน อาการโดยทั่วไป ได้แก่ เป็นไข้ หน้าบวม และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตาแดง (Conjunctivitis) และ มีเลือดออกที่เยื่อบุ (Mucosal bleeding) ส่วนอาการต่างๆ ที่กระทบอวัยวะส่วนอื่น ได้แก่

• ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract)

  • คลื่นไส้
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • ปวดท้อง
  • ท้องผูก (Constipation)
  • กลืนลำบาก (Dysphagia)
  • ตับอักเสบ (Hepatitis)

• ระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular system)

  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia)

• ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract)

  • ไอ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก (Dyspnoea)
  • คออักเสบ (Pharyngitis)
  • เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis)

แหล่งข้อมูล

1. Lassa fever http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs179/en/ [2016, February 27].

2. Lassa Fever. http://www.medicinenet.com/lassa_fever/article.htm[2016, February 27].

3. Lassa Fever. https://en.wikipedia.org/wiki/Lassa_fever[2016, February 27].