ลาสซาฟีเวอร์ระบาดอีกแล้ว (ตอนที่ 1)

ลาสซาฟีเวอร์ระบาดอีกแล้ว-1

      

      ดร.ชาร์ลี เวลเลอร์ หัวหน้าส่วนงานด้านวัคซีนของเวลคัมทรัสต์ องค์กรการกุศลที่ประกาศตัวเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาพของประชากรโลก ออกมาเตือนภัยโรคไข้ลัสสาที่ระบาดในไนจีเรียตั้งแต่ต้นปีมานี้ว่า เป็นหนึ่งในโรคที่อาจระบาดได้อย่างร้ายแรง ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนใดในการป้องกันโรคนี้

      ดร.เวลเลอร์ เขียนบทความเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ของบีบีซี อธิบายว่าไข้ลัสสาไม่ใช่โรคใหม่ แต่การระบาดของโรคที่เกิดในขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน และยังเป็นการระบาดอย่างรวดเร็วในวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างทำงานกันอย่างเกินกำลังเพื่อรับมือ ซึ่งหลายคนต้องติดเชื้อและเสียชีวิตไปด้วย

      โรคนี้ที่เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้ จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่จะไปทำลายระบบหลอดเลือดและส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว การรักษาจะเป็นไปอย่างยากลำบาก

      ผู้ติดเชื้อไวรัสลัสสาส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหนัก แต่จะมีไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย บางคนอาจจะไม่มีอาการที่ว่าเลยก็ได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ร้ายแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ต่างจากผู้ติดเชื้ออีโบล่า ซึ่งจะมีเลือดออกทางจมูก ปากและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

      ศูนย์ควบคุมโรคของอังกฤษ ให้ข้อมูลว่าโดยปกติแล้วอัตราการเสียชีวิตจากโรคลัสสามีประมาณร้อยละ 1 แต่การระบาดในไนจีเรีย มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 20 ในหมู่ผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อและน่าจะติดเชื้อ โดยคาดกันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 90 คน แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ เพราะไข้ลัสสาเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก

      การระบาดครั้งล่าสุดนี้ก่อให้เกิดความกังวลเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงผิดปกตินับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยายามหาคำตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการมีตั้งแต่ เรื่องของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ ไปจนถึงความตระหนักของสาธารณชนเกี่ยวกับโรคนี้ หรือเป็นไปได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับไวรัสของโรค

      ดร.เวลเลอร์ กล่าวว่า เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกอาการของโรคนี้จากโรคอื่น ๆ อย่างมาลาเรีย และไข้เลือดออก และในเมื่อยังไม่มีวิธีทดสอบใด ๆ ในขณะนี้ หนทางเดียวที่จะวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อโรคนี้ทำได้โดยการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดหรือเนื้อเยื่อผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งในไนจีเรียมีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่เพียงไม่กี่แห่งที่สามารถทำได้

      อย่างไรก็ดี ดร.เวลเลอร์ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ในอนาคต แต่การพัฒนาวัคซีนเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ซั้บซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง

      โดยขณะนี้องค์กรใหม่ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2560 ที่มีชื่อว่า CEPI (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้ โดยหวังว่าจะประสบผลสำเร็จและทดสอบใช้ในวงกว้างได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

      อนึ่ง เว็บไซต์ของสมาคมโรคติดเชื้อเด็กในประเทศไทยให้ข้อมูลว่า ยังไม่พบรายงานโรคนี้ในไทย

แหล่งข้อมูล:

  1. ไข้ลัสสา : โรคคร่าชีวิตที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน. http://www.bbc.com/thai/international-43293484 [2018, March 29].