ลมหายขณะหลับ (ตอนที่ 4)

ลมหายขณะหลับ-4

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับถือเป็นภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรงซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • อ่อนเพลียระหว่างวัน – เพราะการหลับๆ ตื่นๆ ในตอนกลางคืนทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ จึงมักง่วงซึม หงุดหงิด อ่อนเพลีย ระหว่างวัน บางคนอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิในการทำงาน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่หรือทำงานได้ หรือบางคนอาจมีอารมณ์หุนหันพลันแล่น หงุดหงิด ซึมเศร้าหดหู่ ก่อทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรม
  • ความดันโลหิตสูงหรือมีปัญหาโรคหัวใจ – เพราะการที่ระดับออกซิเจนไม่พอระหว่างการนอนหลับจะเพิ่มความดันในโลหิตให้สูงและทำให้ระบบหลอดเลือดหัวใจตึงเครียด ทำให้มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงหรือปัญหาโรคหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดในสมอง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)
  • ภาวะอ้วนลงพุงหรือภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง และน้ำตาลในเลือดสูง
  • อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการใช้ยาและการผ่าตัด – เพราะภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับยังเกี่ยวข้องกับการวางยาสลบเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการหายใจ
  • ปัญหาตับ – ผู้ที่ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมักจะมีผลการตรวจตับที่แสดงว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ (Nonalcoholic fatty liver disease)
  • ไม่มีคนอยากนอนด้วย (Sleep-deprived partners) – เพราะเสียงกรนที่ดังจึงทำให้มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ได้

การวินิจฉัยถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมักทำที่ศูนย์การนอนหลับ (Sleep disorder center) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน หรืออาจจะทำที่บ้านเอง

โดยการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ (Nocturnal polysomnography) ที่ศูนย์การนอนหลับจะต้องนอนค้างคืนที่ศูนย์ และมีการติดอุปกรณ์ที่คอยตรวจระหว่างที่นอนหลับอยู่ดังนี้

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram = EEG) ว่าหลับหรือตื่น รวมถึงเหตุการณ์ที่ขัดขวางระดับการหลับ เช่น การหายใจ การเคลื่อนไหวของแขนขา
  • ตรวจคลื่นกล้ามเนื้อลูกตา (Electro-oculogram = EOG) เพื่อวัดระยะเวลาช่วงหลับฝัน (REM sleep)
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram = EMG)
  • วัดทางเดินหายใจของปากและจมูก
  • วัดการเคลื่อนไหวของหน้าอกและช่องท้อง
  • บันทึกความดังของเสียงกรน
  • วัดระดับออกซิเจน (Oximetry) ที่มีในเลือด
  • วีดีโอจับภาพความผิดปกติในพฤติกรรมขณะนอน (Parasomnia) เช่น อาการละเมอ เพ้อ ชัก

แหล่งข้อมูล:

  1. Sleep apnea. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/basics/definition/con-20020286 [2017, September 26].
  2. Sleep Apnea. http://www.medicinenet.com/sleep_apnea/article.htm [2017, September 26].