ลมหายขณะหลับ (ตอนที่ 1)

ลมหายขณะหลับ-1

วารสาร The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาว่า คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับและไม่ได้รับการรักษาอาจมีความเสี่ยงสูงในการมีน้ำตาลในเลือด ความเครียด และความดันโลหิตที่สูง

Dr. Jonathan Jun ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Johns Hopkins University School of Medicine in Baltimore ได้เปิดเผยว่า มีคนประมาณร้อยละ 20-30 ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea) ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงระหว่างวันและมีผลโดยตรงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ

โดย Dr. Jonathan Jun และทีมงานได้ทำการศึกษากับผู้ป่วยโรคอ้วน 31 ราย (2 ใน 3 เป็นผู้ชาย) ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 51 ปี และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง โดยมีการใช้อุปกรณ์เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure = CPAP) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เครื่องช่วยหายใจ CPAP และพบว่า

ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ระหว่างช่วงกลางคืนที่มีการวัดระดับไขมัน อินซูลิน น้ำตาล และฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอล (Stress hormone cortisol) ค่าดังกล่าวจะสูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับที่รุนแรง

Dr. Jonathan Jun กล่าวว่า เนื่องจากการศึกษานี้ทำกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจจะใช้ไม่ได้กับคนทั้งหมดที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจะต้องทำการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่าผลการศึกษานี้ก็เป็นหลักฐานที่แสดงได้ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการแย่ลงได้

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnea) เป็นความผิดปกติของการนอนที่มีการหยุดหายใจบ่อยๆ ขณะหลับ ผู้ที่มีปัญหานี้จะกรนเสียงดังและรู้สึกเหนื่อยแม้ว่าจะได้นอนมาแล้วทั้งคืน เป็นภาวะที่มักเกิดในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเด็กก็มีแนวโน้มที่เป็นกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

นิยามของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอาจนับจากเวลาที่มีการหยุดหายใจประมาณ 10 วินาที หรือมากกว่า หรืออาจจะวัดจากปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 4 อันเป็นผลสืบเนื่องจากการหยุดหายใจ

ส่วนการประเมินว่ามีความรุนแรงขนาดไหนจะใช้วิธีวัดจากจำนวนครั้งที่หยุดหายใจหารด้วยจำนวนชั่วโมงที่นอนแล้วนำไปเทียบกับดัชนี (Apnea index = AI in apneas per hour) ยิ่งดัชนีมีค่าสูงเท่าไร ยิ่งแสดงถึงการมีภาวะหยุดหายใจที่รุนแรง

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดหลัก คือ

  • ชนิดเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea = OSA)
  • ชนิดเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (Central sleep apnea = CSA)
  • ชนิดผสมโดยเป็นชนิดเกิดร่วมกันทั้งจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจและจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (Complex sleep apnea syndrome / treatment-emergent central sleep apnea)

แหล่งข้อมูล:

  1. Sleep Apnea Wreaks Havoc on Your Metabolism. http://www.webmd.com/sleep-disorders/sleep-apnea/news/20170907/sleep-apnea-wreaks-havoc-on-your-metabolism [2017, September 23].
  2. Sleep apnea. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/basics/definition/con-20020286 [2017, September 23].
  3. Sleep Apnea. http://www.medicinenet.com/sleep_apnea/article.htm [2017, September 23].