ลมหนาวสะบัด โรคหัดกระพือ

ข่าวเด่นเมื่อวานซืน กล่าวถึง โรคหัด (Measles) ว่า เป็น 1 ใน 6 โรคอันตรายที่มาพร้อมกับหน้าหนาว อันที่จริง โรคหัด ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “หัดอังกฤษ” เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสหนึ่ง ซึ่งจะพบมากในน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ประมาณ 90% ของผู้ที่สัมผัสสิ่งของเครื่องใช้หรืออาศัยอยู่ในบริเวณร่วมกับผู้ป่วยจะติดเชื้อได้

โรคหัดมีอาการตัวร้อนขึ้นทันทีทันใด ในระยะแรกมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ผิดกันตรงที่จะมีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ ไข้ก็ไม่ลด เด็กจะซึม กระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม จะมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดินในระยะก่อนที่จะมีผื่น หรืออาจชักจากไข้สูงผื่นของหัดจะขึ้นจากตีนผม ซอกคอก่อน แล้วลามไปตามใบหน้าลำตัวและแขนขา

ในช่วงแรกของการติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ระยะฟักตัวระหว่าง 9 ถึง 11 วัน ลักษณะเฉพาะของหัดคือจะมีผื่นขึ้นหลังมีไข้ 3 ถึง 4 วัน มักจะขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ เป็นผื่นเท่าหัวเข็มหมุดที่ตีนผมก่อนและซอกคอ ผื่นนี้จะจางหายได้เมื่อดึงรั้งผิวหนังให้ตึง เป็นแผ่นกว้าง รูปร่างไม่แน่นอน อาจมีผื่นคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปในทันที แต่จะจางหายไปใน 4 ถึง 7 วัน และจะเหลือให้เห็นเป็นรอยสีน้ำตาล ในบางราย

สิ่งตรวจพบ ก็คือไข้สูง ระหว่าง 38.5 ถึง 40.5 องศาเซลเซียส หรือบางรายอาจสูงกว่านั้น หน้าแดง ตาแดง หรือหน้าตาบวมคู่ เปลือกตาแดง บางรายมีอาการปวดตาเมื่อกลอกตา ระยะ 2 วันหลังมีไข้ พบจุดสีขาวๆ เหลือง หรือ แดงขนาดเล็กๆ คล้ายเม็ดงาที่กระพุ้งแก้มด้านในริเวณใกล้ฟันกรามล่าง หรือฟันกรามด้านบนสองซี่สุดท้าย เรียกว่า Koplik's spot ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของหัดและจะหายไป หลังไข้ขึ้น 2 ถึง 4 วันจะพบผื่นที่หน้า หลังหู ซอกคอ ลำตัว โดยเริ่มขื้นจากด้านบนก่อน ต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านซ้ายและขวาบวมขื้น ปอดจะมีเสียงปกติ ยกเว้นถ้ามีโรคปอดอักเสบแทรก เมื่อใช้เครื่องฟังจะได้ยินเสียงแตก (Crepitation)

ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่เด็กที่ร่างกายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) อันสืบเนื่องจากเอชไอวี เอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ฯลฯ ไม่ว่าสถานะภูมคุ้มกันจะเป็นอย่างไร หรือผู้เดินทางไปในแหล่งที่ซึ่งโรคหัดกำลังระบาด หรือสัมผัสกับผู้เดินทางดังกล่าว นอกจากนี้ยังรวมถึงทารกที่สูญเสียสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่ได้รับถ่ายทอดจากแม่ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ ก่อนถึงวัยฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันตามปรกติ (Routine immunization)

อาการแทรกซ้อน มักจะพบในเด็กขาดสารอาหาร (อาทิ วิตามิน เอ) ทำให้ร่างกายอ่อนแอมีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น ที่พบบ่อยคือ ปอดอักเสบและหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) มักจะพบหลังผื่นขึ้นหรือไข้เริ่มทุเลาลงแล้ว ส่วนที่รุนแรงถึงตายได้ก็คือสมองอักเสบ (Encephalitis) ซึ่งมีอัตราการตาย 15% นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงของอาการแทรกซ้อน แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แพทย์เพียงแต่รักษาตามอาการ อาทิ การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียเมื่อมีปอดบวมแทรกซ้อน ไซนัสอักเสบ และหลอดลมอักเสบ, การให้ยาแก้ปวด (Paramcetamol) เพื่อลดไข้, และการให้ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator) เพื่อบรรเทาการไอ

อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีน เมื่ออายุ 9 ถึง 12 เดือน ฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต วัคซีนมีทั้งชนิดเดี่ยว และรวมกับหัดเยอรมันและคางทูม (Measles, mumps and rubella : MMR) ขอรับการฉีดได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลทั่วไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Measles. http://en.wikipedia.org/wiki/Measles [2011, December 8].