ลมชัก ฉันรักเธอ ภาค2 : ตอน น้องออย…รักแม่นะ

ลมชักฉันรักเธอ2

จบบล็อก minor (การเรียนกลุ่มสาขาวิชาที่ใช้เวลาเรียนสั้นๆ 2-4 สัปดาห์) แล้ว ต่อไปก็ถึงคราว major (สาขาวิชาที่ใช้เวลาเรียนนาน 12 สัปดาห์) เสียที... Pediatrics หรือบล็อกกุมารเวช

การขึ้นวอร์ดเด็กในช่วงแรกเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ สำหรับหนู จริงอยู่ว่าเด็กนั้นแสนจะน่ารัก แต่สิ่งที่หนูไม่ชอบเลยคือการราวด์วอร์ดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เด็กเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เพราะเจ้าตัวน้อยยังบอกเราไม่เป็นว่าเขามีอาการอย่างไร ไม่สบายตรงไหน

อีกอย่างที่หนูไม่ชอบคือการกดเครื่องคิดเลข คำนวณปริมาณยา, iv (น้ำเกลือหรือสารน้ำ), TPN (สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ), I/O (ปริมาณน้ำเข้า ออกในแต่ละวัน) คือ โดยนิสัยแล้วหนูเป็นคนชอบจินตนาการ นึกภาพและคิดในใจเสียมากกว่า แต่ถ้าทำอย่างนั้นคงต้องราวด์กันถึงดึกดื่นแน่ๆ ที่จริงแล้วหนูเป็นคนชอบวิชาคำนวณ แต่ชอบอะไรที่มันซับซ้อนกว่านี้และไม่ซ้ำซาก อย่างพวกตรีโกณมิติ ลำดับอนุกรม ความน่าจะเป็น แคลคูลัส และฟิสิกส์ ว่าแล้วก็ทำให้คิดถึงตอน ม.ปลาย ไม่น้อยเลยค่ะ

แต่ยังโชคดีที่หนูได้อยู่กับน้องๆ กลุ่มที่น่ารักและเข้าใจหนู ทุกคนช่วยกันทำงาน แม้ว่าหนูจะช้าแต่น้องๆก็ไม่ว่า ถ้าเราช่วยเหลือกัน ไม่นานงานก็เสร็จ บางช่วงที่เครียดๆ ก็ทำให้มีเรื่องให้หัวเราะได้ แต่หลายๆครั้งหนูมีเรื่องไม่ค่อยสบายใจ หนูก็ไม่ค่อยบอกน้องๆเท่าไหร่ กลัวจะเป็นการเพิ่มเรื่องเครียดให้น้องเปล่าๆ

ถ้าถามว่าลึกๆ แล้ว หนูยังมีความเครียด ความกังวลอยู่ไหม ตอบได้เลยว่ามี หนูรู้สึกว่ามีปัญหาในการเรียนบล็อกนี้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ได้เรียน แต่หนูก็ได้แต่เก็บความรู้สึกนั้นไว้ คิดว่ายังไงมันเป็นสิ่งที่เราต้องผ่านไปให้ได้ หนูไม่อยากบอกใคร ไม่อยากให้ใครมองว่าหนูมีปัญหาอีก

หลังสอบกลางภาค หนูก็รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้เช่นเคย และทำไม่ทันด้วย ไม่แน่ใจว่าหนูชักตอนทำข้อสอบอีกหรือเปล่า และหนูได้รู้หลังจากนั้นว่าหนูได้คะแนนน้อยที่สุด ยิ่งทำให้หนูรู้สึกแย่เข้าไปอีก แต่เรื่องหนูไม่ยอมบอกใคร โดยเฉพาะ ป๊ากับแม่ ถ้าไม่ได้ถามหนูก็คงไม่บอกเองแน่ๆ สอบลงกองหนูคงต้องทำให้ดีกว่านี้มากๆ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ไหม แค่คิดก็ไม่อยากจะให้ถึงวันนั้น วันที่ต้องสอบ ยิ่งคิดยิ่งเครียด

ปัญหาเรื่องอารมณ์มันเริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อหนูเก็บความเครียดและความกังวลมาระยะหนึ่ง แต่หนูก็ไม่บอกใครเหมือนเดิม ช่วงนี้หนูมาอยู่วอร์ดเด็กที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น อีกด้วย จึงไม่ค่อยมีเวลาเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์เท่าไหร่นัก ถ้าปรึกษาอาจารย์ท่านอื่นหนูก็ยังรู้สึกไม่ไว้ใจ ไม่รู้ว่าจะเข้าใจหนูไหม

ช่วงเย็นของวันหนึ่งที่หนูรู้สึกเหนื่อยล้า ที่จริงก็ยังพอมีแรง แต่ใจมันกลับไม่อยากทำอะไร หนูไปดูหนังเรื่อง The Lady กล่าวถึงชีวประวัติของนางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนแรกและคนเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านคือผู้หญิงที่เด็ดเดี่ยว ยอมเสียสละแม้กระทั่งเสรีภาพและครอบครัวของตัวเอง เพื่อประชาชนทั้งประเทศ แค่ลองคิดว่าถ้าเป็นตัวเราเองโดนกักอยู่ในบ้านตลอดเวลา แค่ปีเดียวก็คงทนไม่ไหวแล้ว ความยากลำบากของเรานั้นยังไม่ถึงเสี้ยวของความพยายามของท่านอองซานซูจีเลย

ยิ่งช่วงนี้หนูไม่ค่อยได้นอน เครียดกับหลายเรื่อง อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แล้วก็ชักมากขึ้น จนทำให้หนูเริ่มท้อ หลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้ หนูค่อยมีกำลังใจอยากทำเพื่อคนอื่นมากขึ้นบ้าง เดินกลับขึ้นวอร์ดพร้อมรอยยิ้มที่มุมปาก แต่หนูกลับไม่รู้ตัวว่ามียังความขุ่นมัวยังซ่อนอยู่ลึกๆในใจ และหนูยังลบมันออกจากใจไม่ได้

เวลาล่วงเลยถึงสามทุ่มกว่า หนูรับเคสวอร์ดเด็กเล็กจนเสร็จแล้วก็กลับบ้าน ป๊าถามว่าทำไมหนูถึงกลับดึกจัง หนูเลยบอกว่า ไปดูหนังก่อน แล้วจึงขึ้นไปรับเคส

"มีงานก็แทนที่จะไปรับเคสให้เสร็จก่อน" ป๊าพูดเชิงตำหนิ หนูพยายามอธิบายว่าการรับเคสที่วอร์ดนี้ไม่ได้รีบมาก ตอนนั้นบางเคสก็ยังไม่แอดมิตขึ้นมา จึงไปรับตอนดึกหน่อย แต่ก็เหมือนว่าจะไม่เป็นผล

"หิวไหม อาหารอยู่บนโต๊ะ"

"ไม่หิว" หนูตอบห้วนๆ ตอนนี้หนูไม่มีอารมณ์กินอาหารแล้ว ทั้งที่ไม่รู้ว่าป๊าถามด้วยความห่วงใย แต่หนูตอบกลับแรงๆ แถมป๊ายังอุตส่าห์รอนาน เตรียมอาหารไว้ให้ นั่งรอจนดึก พอเจอคำพูดแบบนี้ ก็เปลี่ยนสีหน้าเป็นโกรธทันที

"ไม่กินก็เอาไปโยนให้หมากินซะไป" ป๊าเอาอาหารไปขว้างทิ้งหน้าบ้าน

หลังจากนั้นหนูกับป๊าก็มีปากเสียงกัน ไม่มีใครฟังใคร ต่างฝ่ายต่างอารมณ์รุนแรงทั้งคู่ หนูจำไม่ได้ว่าตัวเองว่าอะไรป๊า และป๊าพูดว่าอะไรบ้าง มีเพียงคำสุดท้ายที่ยังติดหูหนูมาจนถึงทุกวันนี้ "ไม่รู้มันจะเกิดมาทำไม" แล้วป๊าก็เดินเข้าห้องนอนไป

สิ้นเสียงประโยคนี้ หนูก็ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ มันเป็นความรู้สึกที่หนูไม่รู้จะอธิบายได้อย่างไร มีเพียงความเงียบ และน้ำตาที่เริ่มไหล พลางคิดในใจ "ใช่สิ ไม่รู้หนูจะเกิดมาทำไม"

เสียงเตือนกินยาจากโทรศัพท์ดังขึ้น หนูหยิบกล่องยาขึ้นมา... นั่นสินะ เพราะหนูป่วยใช่ไหมถึงเป็นแบบนี้

ความเครียด ความขุ่นเคืองใจที่เก็บมานาน พอมาเจอเรื่องแบบนี้แล้ว สติของหนูก็ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ หนูเปิดกล่องยา โยนเข้าปาก แล้วหนูก็แกะยาบนโต๊ะอีกหลายแผง แล้วก็กลืนเข้าไปทีละสิบกว่าเม็ด กินเข้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้คิดถึงผลที่จะตามมาเลย

สักพักหนูก็รู้สึกสะใจ เหมือนได้ระบายอารมณ์ออกมา สบายใจขี้นมาก แต่ก็รู้ว่า เราคงเหลือเวลาในชีวิตอีกไม่นานแล้ว... ก็ดีนะ หนูจะได้ไม่ต้องทนกับเรื่องพวกนี้อีก ป๊าจะได้ไม่ต้องทนดูแลหนูต่อไปด้วย

หนูเขียนจดหมายลาทุกคนที่เคยมีพระคุณต่อหนู ยิ่งเขียนไป หนูก็ยิ่งรู้สึกว่าบังคับการเคลื่อนไหวของมือตัวเองยากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มง่วง แต่ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่หนูต้องทำ หนูต้องคุยกับใครคนหนึ่ง ก่อนจะจากโลกนี้ไป

คืนนั้นแม่ไปอยู่บ้านน้าที่กรุงเทพ หนูโทรหาแม่ตอนเวลาห้าทุ่มกว่า ตั้งใจจะบอกลาแม่ และคุยกับแม่เป็นครั้งสุดท้าย

"โทรมาหาแม่ มีอะไรหรือจ๊ะ"

"ไม่มีอะไร แค่อยากได้ยินเสียงแม่เฉยๆ" แต่เนื่องจากหนูไม่เคยพูดแบบนี้มาก่อน บวกกับเสียงที่สั่นเครือของหนู ทำให้แม่รู้ว่า หนูกำลังร้องไห้ แม่ก็รู้ทันทีว่าต้องมีเรื่องอะไรแน่ๆ

แม่ปลอบใจ และบอกหนูว่าไม่ต้องคิดมาก หนูฟังแม่พูดไปเรื่อยๆ น้ำตาไหลไป แม่คือคนที่เข้าใจหนูที่สุดเลย แต่หนูก็ทำได้เพียงคิดในใจว่าต่อจากนี้แม่คงไม่มีหนูอยู่ให้เป็นห่วงแล้ว พอเกือบเที่ยงคืน หนูรู้สึกง่วงมากจนแทบทนไม่ไหว ได้เพียงแต่บอกแม่ว่า "หนูง่วงแล้ว หนูไปแล้วนะแม่"

ลาก่อน... โลกที่รัก

ข้อคิดเห็นจากหมอสมศักดิ์

อารมณ์ปะทะอารมณ์ เรื่องเล็กนิดเดียวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ที่เรียก “น้ำผึ้งหยดเดียว” ก็คือแบบนี้ ความหวังดีก็กลายเป็นปัญหา เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่เข้าใจ ยิ่งทำให้ฝ่ายหวังดีเกิดอารมณ์มากยิ่งขึ้น ดังเรื่องที่น้องออยได้เล่าให้ฟัง

ไม่มีใครอยากให้เกิดแบบนี้หรอกครับ แต่เกือบทุกปัญหาใหญ่ ๆ ก็มักเกิดจากเรื่องเล็กๆ แบบนี้ทั้งนั้น เนื่องจากขาดการพูดคุยกัน ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประกอบกับอารมณ์ที่ไม่ดีเริ่มต้นเป็นพื้นฐานมาก่อน อย่างกรณีนี้น้องออยเองก็เริ่มมีปัญหาช่วงนี้จากรูปแบบการเรียน ความเบื่อหน่าย ความอ่อนล้า อาการชักที่เป็นมากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มารวมกับการไม่เข้าใจว่าป๊ารอนานแค่ไหน ป๊าตั้งใจมากที่อยากเห็นลูกกลับบ้าน ทานอาหารที่เตรียมไว้ให้ กลับบ้านมาพักผ่อน โดยรีบรับผู้ป่วย ทำงานที่รับผิดชอบให้เสร็จก่อน แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่ป๊าคาดไว้ จึงเกิดปัญหาขึ้น จากเพียงเรื่องเล็ก ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

โชคดีที่น้องออยผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้มาได้ และได้มาเล่าให้เราได้ฟังเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ป่วยทุกท่าน ผู้ปกครองและคนรอบข้างด้วย ถ้าทุกคนมีสติ ฟังอีกฝ่ายให้ดี ยอมรับความคิดเห็นหรือคำแนะนำ ที่มีแต่ความหวังดีดังกล่าว เรื่องทั้งหมดก็จะไม่เกิดขึ้น

ผู้เป็นพ่อ แม่เมื่อเห็นลูกเจ็บ ตัวเองเจ็บมากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า ถ้าลูกเข้าใจตรงนี้ ก็จะไม่ทำร้ายตนเอง เพราะผู้ที่เสียใจมากที่สุด คือ พ่อ แม่ บางครั้งความคิดเพียงชั่ววูบเท่านั้นก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

ผมหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องออยเรื่องนี้ ควรเป็นแบบอย่างให้ผู้ป่วยและพ่อ แม่ สามี ภรรยาและทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจะเข้าใจกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ดีกว่านี้ จะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำแบบนี้ขึ้นมาอีก เพราะอาจจบลงด้วยความเศร้า ไม่โชคดีเหมือนน้องออย