ลมชัก ฉันรักเธอ ภาค2 : เมื่อน้องออยพบจิตแพทย์

ลมชักฉันรักเธอ2

การนั่งรอตรวจอยู่หน้าห้องตรวจจิตเวชมันรู้สึกแปลกๆ ชอบกลยังไงไม่รู้ เหมือนว่าคนที่เดินผ่านไปมาจะมองว่าเราเป็นคนจิตไม่ปกติ ยิ่งใส่เสื้อกาวน์ นศ.พ. ก็ยิ่งกลายเป็นจุดเด่น หนูพยายามไม่สนใจ ใครจะมองว่าเราเป็นโรคจิตหรือเป็นคนบ้าก็ช่าง ตอนนี้หนูรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เรารู้ว่าเรามีปัญหาและกำลังต้องการความช่วยเหลือ ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเกิดปัญหา หรือมีปัญหาแต่แก้ปัญหาแบบผิดๆ ใช่ไหมคะ

แต่ยังไงก็ตาม การนั่งอยู่หน้าห้องตรวจจิตเวชได้สอนอะไรหนูหลายอย่าง หนูได้เห็นแววตาของคนที่กำลังมีความทุกข์กับความจริงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ทุกคนต่างมีปัญหาชีวิตของตนเอง ไม่ใช่เพียงหนูที่มีความทุกข์ แต่ยังมีอีกหลายคน ทุกข์ด้วยเรื่องที่ต่างกันไป และทุกข์เพราะไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร กับคนอีกประเภทหนึ่ง ที่แววตาดูประหลาด เหมือนเขาไม่รับรู้ความเป็นจริงแล้ว นี่แหละคือพวกที่ไม่รู้ว่าตัวเองผิดปกติ แต่คนอื่นมองว่าเขาผิดปกติกันหมด และคงจะถูกเรียกว่า คนบ้า น่าสงสารจริง เขาคงจะไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงว่าเขาแบบนี้ คิดแล้วยังถือว่าตัวเองโชคดี ที่ยังเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นอยู่

การคุยกับจิตแพทย์ทำให้หนูได้ศึกษาความคิดและอารมณ์ของตัวเอง ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น อาจารย์บอกว่าหนูมีอาการย้ำคิดย้ำทำ และซึมเศร้า จึงได้ให้ทานยาเพิ่มอีกตัว หนูเบื่อที่จะทานยาแล้ว แต่ก็ยินยอมรักษา และหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นค่ะ

ช่วงเดือนมกราคมหนูเลือกที่จะยังไม่ขึ้นเรียน med (อายุรศาสตร์) ตามความเห็นของอาจารย์ว่าหนูยังไม่พร้อม หนูเลยมา elective ศัลย์กับเพื่อนๆ อีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อเตรียมสอบพร้อมเพื่อนในกลุ่มนี้ ทำให้หนูได้มาเรียนและรื้อฟื้นอะไรที่หนูจำไม่ได้ อาจารย์ภาควิชาศัลย์ทุกท่านก็เข้าใจและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี งานไม่หนักมาก ไม่ต้องอยู่เวร เขียนรายงาน มีเวลาอ่านหนังสือและพักผ่อนมากขึ้น จนในที่สุด หนูก็สอบผ่านศัลย์ค่ะ

หนึ่งปีการศึกษาผ่านไป เพื่อนๆ ก็กำลังจะเป็น extern (นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6) กันแล้ว แต่หนูยังต้องเรียนไม่จบปี 5 หนูสัญญา หนูต้องเรียนให้จบให้ได้ หนูจะทำเต็มที่อย่างดีที่สุดค่ะ

ข้อคิดเห็นจากหมอสมศักดิ์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องออยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก จากหลายๆ การศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักมีความผิดปกติทางสุขภาพจิตร่วมด้วยเสมอ เพียงแต่มีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน บางส่วนต้องพบจิตแพทย์ด้วยบางส่วนเพียงให้คำแนะนำหรือให้ยารักษาเบื้องต้นก็ผ่านพ้นไปด้วยดี กรณีน้องออยนั้นที่ผมต้องส่งพบกับอาจารย์จิตแพทย์ด้วยนั้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ผมจะให้การดูแล เนื่องจากน้องออยนั้นต้องรับภาระด้านการเรียนอย่างหนัก และการที่เป็นนักศึกษาแพทย์นั้นก็ต้องแบกความคาดหวังของคนรอบข้างอีก ยิ่งเป็นเด็กที่เรียนดีมาตลอด มีความสามารถสูงในหลายๆ ด้าน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยิ่งเป็นความกดดันต่อน้องออย และยิ่งต้องเรียนร่วมกับรุ่นน้องที่เปลี่ยนไปมา ไม่ค่อยคุ้นเคยกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่อาจทำให้ปัญหานั้นแก้ได้ยากยิ่งขึ้น

น้องออยโชคดีที่ได้รับการดูแลจากอาจารย์แพทย์ที่มีประสบการณ์สูงและเมตตาต่อน้องออยอย่างมาก น้องออยสามารถผ่านอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสนี้ไปได้ด้วยดี ผมว่าเป็นเพราะพื้นฐานที่ดีของน้องออย ความพร้อมที่เกินร้อยก่อนการเจ็บป่วย ความเข็มแข็งของจิตใจ พื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี การดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อ คุณแม่และคนในครอบครัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการส่งเสริมความเข็มแข็งให้ผู้ป่วยสามารถฝ่าฟันอุปสรรคหรือต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ผมเองยังมีความคิดว่าคณะแพทย์น่าจะมีหลักสูตรสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เพราะจริงแล้วนักศึกษาแพทย์ที่มีปัญหาสุขภาพนั้นน่าจะต้องได้รับการดูแลให้ดี เช่น การปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยนั้นก็ไม่น่าจะต้องขึ้นเวรดึก โดยให้ขึ้นเวรเช้า บ่าย เพื่อที่เวรดึกจะได้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ โยการขยายเวลาเรียนออกไป ให้มากกว่านักศึกษาปกติ ถ้าเป็นแบบนี้น้องออยก็ไม่ต้องดรอปเรียนเป็นระยะๆ และการที่น้องออยตรงสอบใหม่ เพราะไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทันเพื่อนๆ นั้น ก็เป็นเพราะขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้มีอาการชักบ่อยครั้ง เพียงแค่เราขยายเวลาเรียนให้นานขึ้นเป็นสองเท่าก็ได้ การปฏิบัติงานก็เท่านักศึกษาอื่นๆ ประสบการณ์ก็ไม่แตกต่างกัน ทำให้นักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพไม่ต้องสอบตก ไม่ต้องดรอปเรียน แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะหลายๆ คนอาจแย้งผมว่า ไม่ควรมีสองมาตรฐาน (double standard)

โชคดีน้องออย