ลมชัก ฉันรักเธอ ภาค2 : ความจริงที่ต้องเผชิญของน้องออย

ลมชักฉันรักเธอ2

เนื่องจากหนูไม่ได้เขียนไดอารี่มานาน งั้นหนูจะขอเล่าย้อนหลังไปถึงตอนเรียนบล็อกศัลย์ (ศัลยกรรม) นะคะ และบันทึกในตอนนี้ หนูตัดบางส่วนมาจากบันทึกที่หนูเขียนระบายอารมณ์ตัวเอง จึงอาจจะมีคำที่ฟังดูไม่ค่อยเพราะเท่าไหร่นะคะ

ย้อนกลับไป เมื่อตอนขึ้นศัลย์ปี 4 เป็นบล็อกแรก (การเรียนในช่วง 3 เดือนแรกของชั้นปีที่ 4) ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ยิ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ทำให้เครียดและกังวลมาก ยิ่งได้นอนน้อย ยิ่งทำให้มีอาการบ่อยๆ ทำให้ทำงานไม่ค่อยทัน เขียนรายงานไม่ทัน เรียนไม่รู้เรื่อง ตอบคำถามอาจารย์ไม่ได้ เคยถูกรุ่นพี่ว่าจนร้องไห้ ตอนที่เพื่อนเห็นเราเหม่อลอยก็เอาไปล้อเล่น เลยไม่อยากเข้าหาใคร เพื่อนสนิทก็ไม่ได้อยู่ด้วย เหงามากๆ ยิ่งช่วงที่เพิ่งรู้ diagnosis (การวินิจฉัยโรค) ว่าตัวเองเป็นอะไรก็ยิ่งเครียด พอเริ่มกินยาก็ง่วงมาก มีปัญหาเรื่องเรียน มาสาย คนรอบข้างไม่เข้าใจ สุดท้ายก็สอบตก

เวลาผ่านมาเรื่อยๆ หนูเข้มแข็งขึ้น และทุกอย่างในชีวิตก็ดีขึ้น และหนูคิดว่ามันจะต้องดีกว่าเดิมเสมอไป

พอขึ้นมาปี 5 หนูก็ตั้งใจไว้แล้วว่าหนูจะต้องทำให้ได้ ถึงรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องเหนื่อย เหมือนปีที่แล้ว แต่ตอนนี้หนูเชื่อว่าตัวเองเก่งขึ้นแล้ว ไม่ต้องคิดถึงเรื่องที่เราเคย fail (พลาด ไม่สมหวัง) มา ก็มันผ่านไปแล้ว สอบแก้จนผ่านแล้ว ปีนี้มันก็ต้องดีขึ้นใช่ไหมคะ และหนูคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นต้องบอกใครด้วยว่าเรามีปัญหาอะไร เราทำด้วยตัวเองได้

แต่พอเจอบรรยากาศแบบเดิม ความรู้สึกเก่าๆ มันก็เข้ามา ตั้งแต่เริ่มราวด์วอร์ด(ดูคนไข้ในหอผู้ป่วยใน/ Ward round) เข้า activity (กิจกรรมการเรียนรูปแบบต่างๆ) ที่เหมือนของปีที่แล้ว ความเครียดแบบเดิมก็กลับมาทันที ยิ่งปี 5 งานจะหนักขึ้น ทั้งเข้า OR (ห้องผ่าตัด) ทำแผล อยู่เวร รับเคสที่ AE (หอผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน) รับnotify (รายงานความเจ็บป่วยหรือปัญหาของผู้ป่วย) กลางดึก ตอนเช้ามาราวด์ต่อ เขียนรายงานสัปดาห์ละ 2 ฉบับอยู่ บางทีก็ทำอะไรไม่ค่อยทัน ที่แย่ที่สุดคือ ชักบ่อยขึ้น หนูไม่ได้อยู่กับเพื่อนสนิท แล้วเพื่อนในกลุ่มไม่ค่อยเล่นกับเรา หนูกลัวว่าว่าเค้าจะมองว่าเราแปลกกว่าคนอื่น หรือเราเรียนไม่เก่งเท่าเค้า เวลาที่อาจารย์ถามคำถามที่อาจารย์เคยสอน และหนูก็เคยอ่าน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อนตอบได้กันหมด แต่หนูตอบไม่ได้ อาจารย์ก็ว่าหนูไม่อ่านหนังสือ หรือเวลาราวด์ เพื่อนทำงานเร็วกว่าเรา ก็คิดอยู่ว่าพี่จะว่าหนูขี้เกียจ หนูอู้รึป่าว หนูก็พยายาม speed (เร่งให้เร็วขึ้น) ตัวเองให้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ยังไม่ทันเพื่อนซะที ทำไมหนูมันแย่จริงๆ เลยคะ หนูไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกนี้ยังไง รู้แต่มันทรมานมากที่หนูคนเดียวต้องเป็นแบบนี้

พอตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือ อ่านได้วันหนึ่ง พออีกวัน อาจารย์ถามก็จำไม่ได้ อ่านอีกรอบ ก็จำไม่ได้ เริ่มเกิดความรู้สึกว่า งั้นหนูจะอ่านไปทำไมกัน เลิกอ่านไปเลยไม่ดีกว่าหรอ รู้สึกดีกว่าเสียด้วยซ้ำ ไม่อ่านแล้วก็ไม่รู้ มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าอ่านแล้วไม่รู้มันก็เหมือนเปล่าประโยชน์ แล้วก็คิดว่าหนูต้องสอบไม่ผ่านแน่ๆ อยู่เวรก็ถี่ เวลาอ่านก็น้อย เหนื่อย ท้อ จนจะขอดรอป (หยุดพักการเรียน) แต่ก็รู้สึกว่าไม่อยากดรอป หนูมาไกลขนาดนี้แล้ว ตอนนี้ก็ครึ่งทางแล้ว ถ้าดรอปมันก็เหมือนเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดเลย สู้ต่อดีกว่า ก็คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วนี่ว่าเราจะทำได้ แต่พอเริ่มอ่านใหม่แล้วจำไม่ได้ ทั้งๆที่เข้าใจ อาจารย์ได้สรุปประเด็นให้ฟังแล้ว ทำไมมันไม่เข้าหัวเลย แต่ก็พยายามทำต่อ ทั้งที่รู้สึกว่าทำยังไงก็ fail อยู่ดี สรุปเลยกลายเป็น อ่านแล้วไม่เข้าหัว เลยไม่อยากอ่าน พอไม่อ่านก็รู้ว่าจะสอบตก เลยต้องอ่าน อ่านแล้วก็จำไม่ได้อีก ก็ไม่อยากอ่านอีก คิดวนไปวนมาเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้เรื่อยไป จนบางทีคิดว่าหนูคงบ้าไปแล้ว หนูมันโง่ชัดๆ นี่หนูทำอะไรอยู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าทำไม่ได้ก็ยังจะทำ

ยังไงก็ตาม หนูยังคงมุงมั่นที่จะทำต่อไป ทำให้ดีที่สุด ถึงจะทุกข์เท่าไหร่ก็จะไม่ท้อ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรหนูยังดันทุรังจะทำ และผลที่หนูได้ อาจจะยังไม่ใช่ความรู้ แต่คือ รอยยิ้มของคนไข้ หลังจากที่หนูได้ดูแลเขาอย่างดีค่ะ อย่างน้อยชีวิตก็ยังพอมีอะไรให้หนูรู้สึกดีบ้าง บางครั้งหนูก็ยังรู้สึกเพลินกับงาน โดยเฉพาะเมื่องานสำเร็จออกมาดี แค่นี้ก็พอจะทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยได้บ้าง

ก่อนหน้านี้หนูก็เคยสงสัย ว่าทำไมอาจารย์หลายๆ ท่านถึงขยันดูแลคนไข้ อยู่เวร ผ่าตัดจนดึกดื่น ตอนนี้หนูเลยได้เข้าใจว่านี่แหละ ความสุขของหมอที่ได้รักษาคนไข้ ได้ดูแล ผ่อนคลายความทุกข์ของผู้อื่น แค่นี้ก็หายเหนื่อยแล้ว

ถึงใจจะคลายความเหนื่อยล้าลงแต่ร่างกายก็ยังต้องการพักผ่อน การทำงานหนักและอดนอนก็ทำให้ช่วงนี้หนูมีอาการชักถี่กว่าเดิม แต่หนูมีเพียงแค่อาการเหม่อลอยเท่านั้น จึงยังไม่มีผลเสียกับการทำงาน อาจจะทำอะไรได้ช้าบ้างแต่ทุกอย่างก็สำเร็จไปด้วยดี

การสอบลงกองใกล้เข้ามาเรื่อยๆ จนทำให้หนูต้องเร่งอ่านหนังสือ ยังต้องอยู่เวรอีกด้วย ยิ่งทำให้หนูไม่ค่อยได้นอน และหนูรู้สึกว่าสมองตัวเองช้ากว่าเดิม ใช้เวลาในการทำความเข้าใจ และลืมง่ายมาก แม้ว่าจะอ่านหลายรอบแล้วก็ตาม แต่หนูก็พยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน สอบ อยู่เวร รับเคส (ผู้ป่วย) เขียนรายงาน หนูพยายามบอกตัวเองเข้าไว้ให้อดทน แล้วสักวันมันจะผ่านไป

เกือบทุกวันที่หนูกลับมาบ้านด้วยความเหนื่อยล้าและไม่อยากทำอะไรนอกจากพักผ่อน แต่ก็ไม่ได้สบายใจเท่าไหร่นัก เมื่อป๊ากับแม่บอกให้หนูอ่านหนังสืออยู่ตลอด หนูก็รู้อยู่ท่านทั้งสองหวังให้เราสอบผ่าน แม่บอกว่าไม่อยากให้หนูเสียใจ ส่วนป๊า บอกว่าเวลาจะไปสมัครต่อที่ไหนเค้าดูเกรด ดู performance (ความสามารถ ผลการเรียน กิจกรรมต่างๆ) นะ หนูก็เข้าใจค่ะว่ามันเป็นความจริง แต่ทำไมป๊าต้องมาบอกว่า เหลืออีก 5 สัปดาห์ แล้วนะ 4 สัปดาห์แล้วนะ หนูอยากจะตอบด้วยความรำคาญ ใช่ค่ะ หนูรู้ ไม่ต้องย้ำก็ได้ แล้วก็ถามแต่ว่าเมื่อไหร่จะอ่านหนังสือ จนหนูเบื่อจนแทบทนไม่ไหว แต่ก็พยายามไม่พูดอะไร ป๊ากับแม่จะรู้ไหมว่าตอนนี้มันเหนื่อยแค่ไหน ถ้าไม่ต้องอยู่เวร เขียนรายงาน ทำtopic (กิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง) ก็คงมีเวลามากกว่านี้ คือหนูรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ช้าและต้องมีเวลาพักผ่อน และป๊ากับแม่น่าจะเป็นคนที่เข้าใจหนูมากที่สุด ว่าหนูทำได้เพียงเท่านี้ แต่ทำไมต้องผลักดันหนูอีกด้วย มันเหนื่อยจริงๆนะคะ

ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว หนูจึงปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา ภาควิชาศัลย์ ซึ่งอาจารย์เสนอว่าถ้าหนูยังรู้สึกว่าไม่พร้อมจะสอบตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องสอบรอบนี้ก็ได้ เพราะหนูยังชักบ่อยๆ และอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องเพราะผลจากยากันชัก ถ้าได้คะแนนน้อยหนูอาจจะไม่ผ่าน แต่ถ้าหนูตัดสินใจมาสอบทีหลังพร้อมกับบล็อกอื่น ถึงจะใช้เวลานานกว่า แต่หนูก็จะมีเวลาทบทวนนานขึ้น แต่ก็ได้สอบในเวลาที่หนูพร้อมทั้งสุขภาพกายและใจ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการตัดสินใจของหนูว่าจะสอบเลยหรือไม่

เริ่มสองจิตสองใจเสียแล้ว ใจหนึ่งก็อยากจะสอบให้มันผ่านพ้นไป ถ้าสอบผ่านจะได้เรียนจบเร็วๆ อีกใจก็ยังไม่อยากสอบ เพราะรู้ตัวว่าเรายังไม่พร้อม ความรู้ยังไม่แน่น โอกาสสอบผ่านก็น้อย ที่จริงแล้ววิธีที่อาจารย์เสนอเป็นทางเลือกทางเลือกที่ดีเลยค่ะ ความรู้ก็จะได้แน่นขึ้น เพราะหนูก็ไม่อยากจบไปเป็นหมอที่ไม่มีความรู้ รักษาคนไข้ไม่เป็น หนูคิดว่าถ้าหนูเลือกวิธีนี้ คงจะมา elective (ช่วงเวลาเลือกเรียนได้เองตามความต้องการของนักศึกษา) ช่วงที่เราว่าง จะได้ดู case (ผู้ป่วย) เยอะๆ ด้วย

หนูตัดสินใจเลือกยังไม่สอบ ความเครียดของหนูก็หายไป ตั้งใจทุ่มเทกับงานมากขึ้น เริ่มมีกำลังใจในการเรียนขึ้นมาที แต่หนูก็ลืมนึกไป ถ้าขอป๊ากับแม่ ท่านจะอนุญาตหรือไม่ คิดๆ ดูอีกที ป๊ากับแม่อาจจะไม่พอใจก็ได้ มันเหมือนหนูไม่สู้เลย

จากแค่ลังเลกลายเป็นเครียดไปเลยค่ะ เครียดยิ่งกว่าเรื่องสอบ แต่สุดท้ายหนูก็ลองถามดู ท่านก็อยากให้หนูลองสอบดูก่อน ถ้าตกค่อยมาสอบแก้ทีหลัง แต่หนูก็ไม่อยากสอบตก ที่ผ่านมาก็สอบตกไปหลายครั้ง ผิดหวังไม่รู้กี่รอบแล้ว ดูท่าทางแล้วยังไงป๊ากับแม่ก็ยังยืนยันความเห็นเดิม เฮ้อ... งั้นหนูสอบเลยดีกว่าค่ะ ป๊ากับแม่จะได้สบายใจ ไม่ต้องบอกอะไรหนูซ้ำซากอีก หนูสัญญากับตัวเองว่าจะสู้ต่อไปจนถึงวันสุดท้าย ตอนนั้นเป็นยังไงก็ค่อยว่ากันอีกที

หนูตัดสินใจว่า เป็นไงเป็นกันล่ะทีนี้ หลังจากราวด์เย็นก็กลับบ้าน อ่านหนังสือถึง 5 ทุ่ม ตื่นตี 3 มาอ่านต่อ สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ ฉันต้องทำได้ๆ พยายามคิดอย่างนี้อยู่หลายวัน ยิ่งการสอบใกล้เข้ามา ก็ยิ่งรู้แล้วว่ายังไงก็ไม่ทัน เอาข้อสอบเก่ามาอ่านก็รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ ถ้าออกข้อสอบเก่าคงเอาเฉลยของรุ่นพี่ไปตอบทั้งๆ ที่ไม่รู้ถูกหรือผิด แต่ในใจก็ไม่อยากทำอย่างงั้น ถึงจะสอบผ่าน แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีข้อสอบเก่าให้ลอก ถ้าเป็นแบบนี้ NL (national license: การสอบประเมินความรู้ ความสามารถระดับชาติ) ก็คงไม่ผ่าน รู้สึกว่าตัวเองไร้ความรู้สิ้นดี แต่ก็อ่านอยู่นั่นแหละ แม่กับป๊าเห็นหนูทุ่มเทมากกว่าแต่ก่อน ยิ่งอยากให้สอบในรอบนี้ แต่หนูรู้ว่าอ่านได้แค่นี้ยังไงก็ไม่ไหว มันยังไม่ถึงครึ่งเลย หนูไม่อยากสอบในขณะที่รู้ว่ายังไงก็ตกอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่า ทำก็ทำวะ เพื่อป๊ากับแม่ ไม่ได้คิดจะทำเพื่อตัวเองอยู่แล้วนี่ หนักเท่าไหร่ ไม่สน สุขภาพจะเป็นยังไง ไม่สน ต้องทำให้ได้อย่างเดียว

วันก่อนสอบ หนูเครียดมาก อ่านหนังสือทั้งน้ำตา ไม่รู้ว่าจะอธิบายความรู้สึกนี้อย่างไร หนูคิดว่าถ้าทำเพื่อตัวเองไม่ได้ อย่างน้อยก็ทำเพื่อพ่อแม่ ถ้าทำให้ป๊ากับแม่ภูมิใจไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ทำให้ท่านสบายใจ ชีวิตนี้หนูคงทำอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่ากว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

เช้าวันสอบ หนูตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกแปลกๆ หนูสับสน งุนงงและจำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าตัวเองชื่ออะไร ต้องทำอะไร ชุดเสื้อกาวน์ นศ.พ. แขวนไว้ที่ประตู ปักชื่อของหนู เสียงไอแพดเตือนว่าวันนี้มีสอบ หนูได้แต่มอง แล้วพยายามนึกให้ออกว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ผ่านไปสักพักหนูก็เริ่มจำอะไรได้เล็กน้อย ได้ยินเสียงเรียกจากห้องข้างล่าง แต่หนูไม่ทราบว่าเสียงใคร เสียงนั้นเรียกตัวเองว่าแม่ เรียกอีกคนว่าป๊า หนูเลยเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น แต่ไม่รู้จะถามแม่อย่างไรดีว่าเมื่อคืนเกิดอะไรขึ้น

มาถึงคณะ หนูก็จำอะไรไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ไปที่ไหน ตอนนั้นทั้งตกใจ ทั้งกลัว ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่เดินไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย

โชคดีของหนูที่สุดท้ายก็เดินมาถึงห้องตรวจคลินิกโรคลมชัก (จำไม่ได้เลยค่ะว่าไปถึงได้อย่างไร) แล้วหนูก็ยิ่งตกใจมากขึ้น เมื่อเห็นพี่พยาบาล พี่เภสัช และทุกคนที่หนูเคยรู้จัก กลายเป็นเพียงแค่ คนที่เคยเห็น แต่ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร สักพักหนูเริ่มจำพี่หน่อยได้ พี่หน่อยก็โทรหาอาจารย์ทันที

อาจารย์ก็รีบลงมา (หนูคิดว่าคงรีบนะคะ เพราะตอนนั้นอาจารย์น่าจะยังราวด์ไม่เสร็จแน่ๆ) เห็นหน้าอาจารย์ครั้งแรกหนูก็รู้สึกคุ้นหน้า แต่ไม่รู้จัก อาจารย์นั่งคุยกับหนู ถามอะไรบางอย่าง ซึ่งหนูเองก็จำไม่ได้ ถ้าจำไม่ผิด อาจารย์พูดถึง post-ictal (อาการลืมภายหลังการชัก) ไม่ก็ transient global amnesia (อาการลืมทุกอย่างเพียงระยะเวลาชั่วคราว) แล้วก็ให้หนูไปนอน observe (สังเกตอาการ) ที่ห้อง EEG (ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง)

หนูหลับอยู่บนเตียงเดิมที่เคยนอนตรวจ EEG ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก ตื่นขึ้นมาก็ยังงงๆ อยู่ จำหน้าอาจารย์ไม่ได้เลย นึกยังไงก็ไม่ออก จำได้แค่ว่าเป็นอาจารย์ที่รักษาตัวเอง และเพิ่งคุยกันเมื่อเช้า พี่หน่อยยิ้มให้หนูเช่นเคย เล่าให้ฟังว่าครั้งแรกที่เจอกัน หนูมองพี่หน่อยเหมือนคนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย ตอนขึ้นมาก็จำพี่ยอไม่ได้ด้วย แต่ตอนนั้นหนูก็เริ่มจำได้นิดหน่อย อาจารย์ก็ยังโทรมาถามอาการอยู่เรื่อยๆ

วันนี้หนูคงจะพูดคำว่า "จำไม่ได้" มาไม่รู้กี่ครั้ง เพราะจนถึงบัดนี้หนูก็ยังนึกไม่ค่อยออกว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง รู้แต่ว่าพี่หน่อยกับพี่ยอ ดูแลหนูดีมากๆ โทรบอกแม่ และอยู่เป็นเพื่อนหนูจนเกือบค่ำ ตอนนั้นหนูเริ่มมีไข้ขึ้น แล้วแม่ก็มาถึง

ภาพแรกที่แม่เห็นหนูนอนอยู่บนเตียง มองแม่ด้วยสายตาเหมือนไม่คุ้นเคย ก็ทำให้แม่น้ำตาไหลขึ้นมาทันที แม่จับมือหนู "นี่แม่ไง จำได้ไหม" หนูไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี เพราะคำตอบแรกที่เกิดขึ้นในใจคือ จำไม่ได้ จึงไม่ได้ตอบ ได้แต่นิ่งเงียบ มองหน้าแม่ เพื่อให้หนูรื้อฟื้นความจำเกี่ยวกับแม่ได้มากขึ้น

สองวันถัดมา หนูไม่สบาย ไข้ขึ้น เบื่ออาหาร และปวดหัวตลอดเวลา ยังจำอะไรไม่ค่อยได้ หนูได้แต่นอนพักอยู่บ้าน หนูเหนื่อยเกินกว่าจะคิดอะไรในตอนนั้น สุดท้ายแล้วหนูก็ไม่ได้ไปสอบอย่างที่ตั้งใจไว้

หลังจากนั้นไม่กี่วันหนูต้องไปงานนำเสนอโปรเจคต์ของน้องชายที่ฮ่องกง ช่วงนั้นเป็นช่วงปีใหม่ ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายของคนในเมืองหลวงในต่างประเทศทำให้หนูรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไรนัก หนูยังเหนื่อยล้าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาและเพิ่งหายไข้ แต่ยังไงหนูก็พยายามจะไม่เครียด และสนุกกับการเที่ยวครั้งนี้ ระหว่างที่หนูว่าง ก็นั่งนึกเรื่องราวต่างๆ เปิด facebook ดูรูปเพื่อนๆ รีวิวอ่าน status เก่าๆ ของตัวเอง ความจำของหนูค่อยๆ กลับมาทีละนิด

พอกลับมา ปีใหม่แล้ว เริ่มต้นชีวิตดีๆใหม่อีกครั้ง หนูก็รู้สึกดีขึ้น แต่เหตุการณ์นั้นสอนให้หนูรู้ว่า ทุกอย่างมันไม่ได้ดีเสมอไป ชีวิตเราต้องเจอทั้งเรื่องดีและไม่ดีเป็นธรรมดา แต่เรื่องไม่ดีนั้น ก็ยังมีความดีอยู่ในตัวของมันเอง คือการสร้างบทเรียนให้เรา และทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

แต่ลึกๆในใจเหมือนยังมีอะไรค้างคาอยู่ อาจารย์ได้แนะนำให้หนูปรึกษาอาจารย์สุวรรณา ซึ่งเป็นจิตแพทย์ เนื่องจากอาจารย์คิดว่า อาการของหนูน่าจะเกิดจากความเครียดและความกังวลที่มากเกินไป หนูจึงทำตามที่อาจารย์บอก

นึกย้อนดูแล้ว ก็ตลกตัวเอง นี่ล่ะสิ ชอบวิชาจิตเวชดีนัก ได้เจอเข้ากับตัวเองเลย และนี่คือจุดเริ่มต้นในการต่อสู้กับอารมณ์ ความคิด จิตใจตัวเองอย่างจริงจังค่ะ

ข้อคิดเห็นจากหมอสมศักดิ์

น้องออยเก่งมากครับที่สามารถขึ้นปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยได้อย่างราบรื่น ถึงแม้จะมีอาการชักบ้าง แต่ก็อดทนจนผ่านพ้นมาได้ การที่สามารถขึ้นฝึกงานบนหอผู้ป่วยศัลยกรรมได้นั้น ต้องมีความทุ่มเททั้งกายและใจ เพราะต้องตื่นแต่เช้า กิจกรรมก็มีมาก ประกอบกับมีอาการชักด้วย แต่น้องออยก็ผ่านพ้นมาด้วยดี ผมคิดว่าทั้งนี้เป็นเพราะการปรับตัวที่ดีขึ้น การสนับสนุนที่ดีจากทางบ้าน และเพื่อนๆ น้องๆ ที่ร่วมฝึกงานด้วยกัน

อย่างไรก็ตามการที่ร่างกายต้องตรากตรำ อดหลับอดนอนอย่างต่อเนื่อง ผสมกับความเครียดที่เกิดขึ้นช่วงใกล้สอบ ทำให้น้องออยมีอาการลืมเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความเครียดอย่างรุนแรงกระตุ้นให้เกิดอาการชักและเกิดภาวะลืมภายหลังการชัก หรือเกิดภาวะลืมทั้งหมดชั่วคราว จากความเครียด

ผมเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นพอดี เข้าใจว่าน่าจะเป็นทั้งจาก 2 ภาวะร่วมกัน วันนั้นผมได้พูดคุยกับน้องออย แต่ดูเหมือนน้องออยจะจำอะไรไม่ได้ และไม่สามารถรับรู้อะไร ผมเองอดคิดไม่ได้ว่าเป็นความผิดของผมหรือไม่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เนื่องจากน้องออยมาปรึกษาผมเป็นประจำว่าจะทำอย่างไรดี ขึ้นปฏิบัติงานก็หนัก อาการชักก็เป็นบ่อย จะดรอปเรียนดีหรือไม่ นิสัยผมซึ่งไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จึงบอกว่าให้ลุยเลย ถ้าจะชักก็มาชักต่อหน้าอาจารย์เลย ไม่ต้องกลัวว่าใครจะว่าอู้งาน ถึงเวลาสอบก็สอบ ไม่ต้องกลัวว่าจะชักหรือไม่ ให้เจ้าหน้าที่นั่งประกบเลย ถ้าชักก็จะได้ให้การช่วยเหลือ หรือถ้านั่งหลับก็จะได้ปลุกให้ตื่นมาทำข้อสอบต่อได้ ผมคอยแต่กระตุ้นให้สู้อย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าน้องออยจะไหวหรือไม่ เพราะมั่นใจว่าน้องเขาเป็นคนที่สู้คล้ายๆ ผม

แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรดีกับน้องออย โชคดีที่น้องเขาสู้ๆๆ จิตใจที่เข็มแข็งและมีความสามารถสูงด้วย ถึงแม้จะชักบ้างไม่ชักบ้างก็ยังเรียนได้ดีพอสมควร ความรับผิดชอบก็สูงจึงทำให้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้

การที่น้องออยต้องตัดสินใจลำบากว่าจะสู้หรือไม่สู้ จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งในใจ ผมจึงต้องแนะนำให้น้องออยพบกับอาจารย์จิตแพทย์ เพื่อที่จะได้คอยให้คำแนะนำและดูแลได้ดีขึ้นกว่าที่ผมดูแลเพียงคนเดียว

การประสานงานร่วมกันระหว่างแพทย์ระบบประสาทและจิตแพทย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะพบปัญหาทางจิตใจร่วมด้วยเสมอ บางรายอาจเป็นปัญหาหลักมากกว่าการชักเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามการดูแลที่ดีนั้น ไม่ว่าแพทย์สาขาไหนก็ตามต้องให้ความสำคัญกับการประเมินปัญหาทางอารมณ์ ความเครียด จิตใจด้วยเสมอ และถ้าพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตใจเป็นหลักก็ไม่ควรให้พบจิตแพทย์เพียงอย่างเดียว แพทย์ที่เคยรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่ต้นต้องให้การดูแลร่วมด้วยเสมอ เพราะจะเป็นผู้ที่เข้าใจโรคเป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ การไว้วางใจจากผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยต้องไปเริ่มการรักษากับจิตแพทย์เพียงลำพังอาจจะไม่ไว้วางใจต่อจิตแพทย์ ส่งผลให้การรักษานั้นไม่ประสบผลสำเร็จ และอาจเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมได้

ผมจึงต้องนัดติดตามอาการน้องออยอย่างต่อเนื่อง และพยายามหาโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะน้องออยเองก็มีภารกิจ ผมเองก็ยุ่งไปในหลายๆ เรื่องๆ จึงอาศัยเวลาช่วงเย็นคุยกัน หรือคุยผ่าน facebook, e-mail

การรักษาโรคลมชักนั้นที่สำคัญ คือ ความไว้วางใจระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ เพราะถ้าผู้ป่วยไม่ไว้วางใจแพทย์ ไม่บอกความจริงว่าอาการปกติหรือผิดปกติ ทานยาสม่ำเสมอหรือไม่ เพียงแค่นี้แพทย์ผู้ให้การรักษาก็ปวดหัวแล้วครับ เนื่องจากเราไม่สามารถหาวิธีประเมินผลการรักษาได้ดีเท่ากับผู้ป่วยได้บอกเล่าความจริงกับแพทย์