ลมชัก ฉันรักเธอ ภาค2 : ก้าวย่างใหม่ของน้องออย…. หนูทำได้

ลมชักฉันรักเธอ2

หนูตัดสินใจเขียนไดอารี่นี้อีกครั้ง หลังจากที่ไดอารี่เล่มแรกของหนู ได้ตีพิมพ์และแจกจ่ายจนหมดจำนวน 3000 เล่ม ซึ่งหนูก็ไม่คิดว่าเสียงตอบรับจะดีขนาดนี้ ที่จริงแล้วหนูไม่คิดว่าจะต้องเขียนไดอารี่อีก ก่อนหน้านี้หนูเขียนเพื่อระบายอารมณ์ ความรู้สึก บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่หนูอยากให้อาจารย์รับรู้ เพราะหนูไม่ค่อยกล้าคุยกับอาจารย์ตรงๆ และยังไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ แต่ตอนนี้หนูได้คุยกับอาจารย์มากขึ้น มีอะไรก็ปรึกษา พูดคุยให้ฟังหมด ติดต่อทาง Facebook ได้ตลอด ซึ่งหนูก็ได้รับคำแนะนำดีๆ กลับมาเสมอ หนูเลยไม่จำเป็นต้องเขียนไดอารี่อีก

งั้นหนูกลับมาเขียนทำไมอีกล่ะคะ?

หลายๆอย่างที่หนูเล่าให้อาจารย์ฟังด้วยคำพูด บางครั้งก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่หนูอยากบอก หรือเวลาที่มีปัญหา สับสน คับข้องใจ อยากถาม แต่พอเจอหน้าอาจารย์ทีไรหนูลืมคำถามเหล่านั้นหมดเลย บางที่มันก็เยอะ จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อนดี ตอนนี้หนูจัดระเบียบความคิดไม่ค่อยได้ สมองรวนไปหมด (ไม่แน่ใจว่าเป็นจากยาหรือเปล่าคะ) หนูเลยคิดว่าถ้านึกอะไรออกก็เขียนไว้ดีกว่า การเขียนทำให้เราเรียบเรียงความคิดได้ดีขึ้นด้วย แต่คงไม่ได้เขียนบ่อยเหมือนเมื่อก่อนนะคะ

และเพื่อให้ต่อกับเรื่องเดิมที่หนูเคยเขียนไว้ หนูจะขอบันทึกเรื่องราวคร่าวๆ ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี ที่หนูไม่ได้เขียนไดอารี่ก่อนนะคะ

ชีวิต นศ.พ.ปีสี่ครึ่ง ของหนูผ่านไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น นับว่าเป็นโชคของหนูที่ได้มีรุ่นน้องดีๆ เป็นเพื่อนเรา ได้มาอยู่กลุ่มเดียวกัน ทำงาน อยู่เวร กิน เที่ยว เราก็ไปด้วยกัน จนตอนนี้สนิทกับรุ่นน้องมากกว่ารุ่นเพื่อนแล้วซะด้วยซ้ำ หนูมีอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือ เข้าใจปัญหา สอนหนูช้าๆ อธิบายซ้ำ ในช่วงที่หนูชักเหม่อไป หรือคิดตามไม่ทัน ยามีผลทำให้การเรียนรู้ของหนูแย่ลงมากๆ และง่วงอีกด้วย มีบางครั้งที่หลับ อาจารย์ก็ไม่ดุ แต่ปลุกหนูทุกครั้ง

เมื่อเวลาผ่านไป หนูรู้สึกว่าตัวเองมีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป อาการชักของหนูลดลง หนูปรับตัวเข้ากับชีวิตที่ต้องอยู่กับโรคลมชักได้ดีขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นในการทำหัตถการ มีอาจารย์ รุ่นพี่ คุณพยาบาล คอยช่วยหนูตลอด จากปีที่แล้ว อาจารย์ไม่ให้หนูทำคลอด ตอนนี้หนูได้ทำให้ทารกตัวน้อยลืมตาดูโลกหลายคนแล้วนะคะ

แต่สิ่งที่หนูไม่ชอบเลย คือ ผลข้างเคียงของยากันชักอีกตัวที่เพิ่มเข้ามา มันทำให้หนูผมร่วง มือสั่น น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนหนูรู้สึกว่า ในชีวิตตัวเองไม่เคยอ้วนขนาดนี้มาก่อนเลย ชุดนักศึกษาคับไปหมด จนต้องซื้อใหม่ ออกกำลังกายยังไงน้ำหนักก็ไม่ลด และที่แย่ที่สุดคือยังควบคุมอาการชักได้ไม่ดี หนูเลยได้เจาะเลือดวัดระดับยา พบว่าระดับยาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาจารย์จึงให้หนูเปลี่ยนยา หลังจากนั้นหนูก็ลดน้ำหนักได้อย่างง่ายๆ หุ่นดีขึ้น (จนหลายคนอิจฉา) และอาการชักก็น้อยลงด้วยค่ะ

พอขึ้นปี 5 หนูได้มาอยู่กับเพื่อนๆ ขึ้นบล็อก super minor (การเรียนในสาขาวิชาที่ใช้เวลาประมาณ 4 สัดาห์) เป็นบล็อกแรก รู้สึกดีเหมือนกันที่ได้มาอยู่กับเพื่อนรุ่นเดียวกันแล้ว แต่ยังมีหลายอย่างที่หนูยังเรียนไม่ค่อยทัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวเนื้อหาที่เพื่อนเรียนมาแล้ว อาจารย์ไม่ได้สอนซ้ำ หนูก็ต้องไปอ่านเพิ่ม แต่ก็ยังไม่ยากเท่าไหร่ค่ะ

หนูชอบวิชา psychi (จิตเวช) มากๆ ซึ่งหนูเพิ่งเคยเรียนครั้งแรกตอนปี 5 นี่แหละค่ะ ถึงเพื่อนหลายคนจะบอกว่าน่าเบื่อ แต่สำหรับหนูแล้ว การเรียนจิตเวชทำให้หนูได้เข้าใจจิตใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจความคิดคนอื่น แต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ปมปัญหาที่อยู่ในใจคนไข้ไม่ใช่สิ่งที่หาได้จากการตรวจร่างกาย ผล lab หรือ investigation (การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ) อื่นๆ แต่เราต้องใช้ใจเราเองเข้าไปค้นหามัน

จะว่าไปแล้วก็อธิบายยาก (คล้ายๆโรคลมชัก บางทีก็อธิบายความรู้สึกขณะเกิดอาการยากค่ะ) เอาเป็นว่าวิชาจิตเวชเป็นหนึ่งในสาขาที่หนูคิดจะเรียนต่อ (ถ้าหนูเรียนจบได้นะคะ)

หลังจากนั้นหนูขึ้นบล็อกศัลย์ (การเรียนในแผนกศัลยกรรม) ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกแล้วค่ะ

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าศัลย์เป็นวิชาที่เนื้อหากว้างมาก ไม่รู้จะอ่านหนังสือยังไงให้จบ บวกกับงานที่ นศ.พ. (นักศึกษาแพทย์) ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งหนักและเหนื่อย เป็นบล็อกเดียวที่ นศ.พ.ปี 5 ต้องอยู่เวรทั้งคืน และเป็น first call (การอยู่เวรที่ต้องรับผิดชอบหลัก เป็นแพทย์คนแรกที่ถูกรายงานเมื่อผู้ป่วยมีปัญหา) แต่ถึงกระนั้นหนูก็ไม่ได้กังวลมาก เพราะอาการชักของหนูควบคุมได้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ แต่...ลึกๆ ก็ยังกลัว ว่าถ้าเกิดชักขณะทำงานหรือหัตถการจะเป็นยังไง

หนูสลัดความกังวลทิ้งไป ในเมื่อมันเรื่องเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปเครียดกับมัน ทำให้ดีที่สุดดีกว่าใช่ไหมคะ

ข้อคิดเห็นจากหมอสมศักดิ์

หนังสือ ลมชักฉันรักเธอ โดยน้องออยนั้นได้พิมพเผยแพร่ไปทั้งหมด 3000 เล่มมีการเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือภาคอีสาน ครั้งที่ 1 ทำให้มีการต้องการหนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องโดยผู้ป่วยเอง คือ น้องออยซึ่งมีรูปแบบการเล่า น่าติดตามเป็นอย่างมาก ผู้อ่านได้รับความรู้ที่เข้าใจง่าย ผมเองก็ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของน้องออย ทำให้ผมก็ได้นำสิ่งต่างๆเหล่านั้นมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ด้วย การรักษาที่ดีนั้นคงต้องอาศัยทั้งความรู้ที่มี ประสบการณ์ ความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยแลละญาติต้องการ สิ่งที่สำคัญ คือ เวลา และความเข้าใจในปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาที่ดีนั้น ควรรักษาคนที่เจ็บป่วย เป็นโรค ไม่ใช่ รักษาเฉพาะโรคในตัวคนเท่านั้น

การรักษาผู้ป่วยทุกคนเวลาที่แพทย์ต้องให้กับผู้ป่วยมีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยหรือญาติมักจะมีข้อสงสัยต่างๆมากมาย แต่ด้วยเวลาที่แพทย์มีให้สั้นมาก คำถามหรือข้อสงสัยนั้นก็ยังค้างคาใจไป บางกรณีผู้ป่วยหรือญาติก็หันไปหาคำตอบจากคนรู้จัก เพื่อนผู้ป่วยด้วยกันหรือจากข้อมูลในหนังสือ อินเตอร์เน็ต ซึ่งก็อาจได้คำตอบที่ถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง

แพทย์อาจต้องเปิดช่องทางในการติดต่อของผู้ป่วยกับแพทย์มากขึ้น เช่น สื่อทางอินเตอร์เน็ต หรือการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้ผู้ป่วย ญาติได้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน และปัญหาที่พบในแต่ละคนก็อาจซ้ำๆกัน ผมเองก็ได้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ติดต่อในทุกช่องทาง จากปัญหาหรือคำถามที่น้องออยได้เล่าให้ผมฟัง หรือสอบถามผม ผมเองก็ได้เรียนรู้ความรู้สึก ข้อสงสัยต่างๆของผู้ป่วยมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

การที่น้องออยต้องผ่านการเรียนในชั้นคลินิก ต้องรับผิดชอบกับการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น มีการทำหัตถการทางการแพทย์ เพื่อการรักษาผู้ป่วย เช่น การทำคลอดนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์พี่เลี้ยง อาจารย์แพทย์เป็นอย่างดี การเรียนแพทย์นั้นสิ่งที่สำคัญ คือ ประสบการณ์การได้รักษาผู้ป่วยจริงๆ การทำหัตถการด้วยตนเองภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์ ในปีแรกที่น้องออยได้ผ่านการเรียนนั้น ยังมีปัญหาการควบคุมโรคลมชักได้ไม่ดี จึงยังไม่สามารถทำหัตถการต่างๆ ได้เหมือนเพื่อน ซึ่งปัญหานี้เองเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคลมชักเกือบทุกคนที่ขาดความมั่นใจ หรือไม่ได้รับความไว้วางใจ เพราะเห็นว่าเป็นโรคลมชัก อย่างไรก็ตามผู้ปกครอง เพื่อน หัวหน้างานต้องให้ความไว้วางใจ ให้โอกาสต่อผู้ป่วยด้วย ถ้าผู้ป่วยควบคุมอาการได้ดี ไม่มีผลแทรกซ้อนจากยาที่ทานก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เหมือนคนอื่นๆ การที่เราสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรม หรือการใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นๆ ก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

น้องออยเองถือว่ามีการปรับตัวที่ดีมาก มีความเข้าใจในโรคที่เป็น ธรรมชาติของโรคและผลกระทบที่เกิดจากการรักษา การเข้าใจ การปรับตัว การยอมรับในโรคที่เป็นทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคนั้นๆ ได้ด้วยดี ผู้ป่วยบางรายปฏิเสธการเจ็บป่วย ไม่ยอมรับ ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ก็มีแต่ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง ไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้น สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือผู้ป่วยและครอบครัว

การได้รับการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว เพื่อนๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนต้องการกำลังใจและการสนับสนุนที่ดีครับ โชคดีน้องออย