ลมชักฉันรักเธอ ภาค2: น้องออยปฏิบัติธรรม

ลมชักฉันรักเธอ2

“ต่อไปหนูคงต้องมีสติมากขึ้น” คำนี้หนูเคยพูดไว้นานแล้ว ตอนนี้หนูจะได้ฝึกอย่างจริงจังแล้วค่ะ

เริ่มต้นด้วยการฝึกอาณาปานสติ คือ การมีสติอยู่กับลมหายใจ

พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน ถ้าฟุ้งซ่านมาก ก็กำหนดจิตเพ่งความสนใจไปที่จมูก สัมผัสความรู้สึกที่เกิดจากทุกลมหายใจที่ผ่านเข้าอออก เพราะลมหายใจ เรามีอยู่ทุกเวลา ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอยู่ทุกขณะ แต่ไม่ต้องท่อง ยุบหนอพองหนอ หรือพุทโธ ไม่ต้องหายใจแรง ความรู้สึกนั้นแผ่วเบามาก ต้องใช้สมาธิสูงเพื่อที่จะควบคุมจิตให้รับรู้สัมผัสเพียงบริเวณเล็กๆ ใครที่ทำครั้งแรกแล้วกำหนดอยู่ตลอดโดยไม่หลุดและไม่หลับเลยถึงชั่วโมงหนึ่ง หนูว่า... นักปฏิบัติธรรมขั้นเทพยังทำยากเลย

ส่วนการฝึกวิปัสสนา เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ กำหนดจิตไว้ที่จมูกเหมือนเดิม หลังจากนั้น เพ่งจิตไปบริเวณจุดที่สูงที่สุดของศีรษะ สังเกตความรู้สึกบริเวณนั้นโดยละเอียด แล้วค่อยๆ กำหนดจิตเลื่อนลงไปตามพื้นผิวร่างกาย จากหัวจรดเท้า สังเกตความรู้สึกให้ครบทุกจุด ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เรียกว่า เวทนา และเราต้องระลึกเสมอว่า ไม่ว่าเวทนานั้นจะเป็นอย่างไร ล้วนมีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วดับไปอยู่เสมอ

ที่สำคัญ คือ ต้องวางจิตให้เป็นอุเบกขา คือ การรับรู้เวทนาตามสภาพความเป็นจริงโดยไม่เอามาปรุงแต่ง เพราะการปรุงแต่งทำให้เกิดกิเลส คือ สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว เวลามีสิ่งใดมากระทบร่างกายหรือจิตใจ เช่น ความเจ็บปวด อากาศร้อน มีคนมาแกล้งหรือสบประมาท เราก็จะปรุงแต่งว่าสิ่งนี้ไม่ดี ไม่ชอบ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ต่างๆ เช่นหลีกเลี่ยง ด่ากลับ แก้แค้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า โทสะกิเลส (กิเลสที่ทำให้เกิดความโกรธหรือไม่พอใจ) แต่ถ้าได้รับความเย็นสบาย ได้สิ่งของ ได้กินอาหารอร่อย ก็จะปรุงแต่งว่าสิ่งนี้ดี ชื่นชอบ และตอบสนองโดยการอยากได้มันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่า โลภะกิเลส (กิเลสที่ทำให้เกิดความพอใจ) เมื่อใดเวทนาถูกจิตปรุงแต่งไปแล้วนั้น จะเรียกว่า สังขาร

กิเลสทั้งปวงย่อมทำให้เกิดทุกข์ ไม่ได้สิ่งที่ชอบก็เป็นทุกข์ ได้สิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นทุกข์

ดังนั้น วิปัสสนา คือ การสังเกตเวทนาที่เกิดขึ้นระหว่างนั่งสมาธิ อาจจะเป็นความเจ็บ ปวด เมื่อย ล้า ชา เหนื่อย เบื่อ ง่วง ร้อน เย็น ซาบซ่าน ซู่ซ่า(บางคนเค้ามีความรู้สึกแบบนี้จริงๆนะคะ) สบาย สนุก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอะไร ก็ใช้จิตมองดูมันอย่างมีอุเบกขา วางเฉย ไม่ตอบโต้ ไม่ปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ ให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า ความรู้สึกเหล่านั้น เป็นอนิจจัง เราจึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองมัน แค่เฝ้าดู ตั้งแต่มันเกิดขึ้น จนมันดับไปเอง

ผู้ใดสามารถฝึกจิตใจให้วางอุเบกขาได้ เมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจ หรือต้องเผชิญเวทนาแบบใด คนผู้นั้นก็จะไม่เป็นทุกข์ รู้ว่าอย่างไรทุกอย่างก็เป็นอนิจจัง

ถ้าหนูมีจิตเป็นอุเบกขากับชีวิตที่ต้องอยู่กับโรคประจำตัวแบบนี้ได้ล่ะคงจะดีไม่น้อยเลยนะคะ

ข้อคิดเห็นจากหมอสมศักดิ์

การรักษาโรคลมชักด้วยพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ผมมีผู้ป่วยหายคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย พอมีปัญหาสุขภาพ การรักษาไม่ค่อยได้ผลก็จะได้รับการแนะนำจากผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัว ให้ไปบวชเป็นพระ เณร ปรากฏว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้นครับ ไม่หายแต่ก็ดีขึ้น น่าแปลกมาก ๆ โดยเฉพาะลมชักนี้ก็มีอยู่หลายคน ส่วนใหญ่แล้วอาการดีขึ้นหมด

ตอนนี้ก็ยังมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นคนไข้รักษาอยู่กับผม พอได้สวดมนตร์ ไหว้พระ นั่งสมาธิอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่มีอาการอีกเลย แต่ถ้าขาดการทำกิจกรรมดังกล่าว ก็จะเริ่มมีอาการชักเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ

จากการศึกษาพระในประเทศธิเบตพบว่า พระที่มีการทำสมาธิอย่างเคร่งครัดเป็นระยะเวลานานจะมีการพัฒนาของสมองด้านความจำที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งเมื่อมีการศึกษาทางรังสี ด้วยการตรวจหน้าที่ของสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า ก็พบว่ามีการพัฒนาของสมองส่วนความจำ สมาธิได้ดีเช่นเดียวกัน

และจากการศึกษาล่าสุดในประเทศไทยก็พบว่าการสวดมนตร์ นั่งสมาธิอย่างต่อเนื่อง ช่วยในการป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานก็ควบคุมได้ดีขึ้น น่าสนใจมากๆ ผลของการนั่งสมาธิและสวดมนตร์

ผมขออวยพรและหวังว่าน้องออยจะสามารถผ่านการฝึกอบรมกิจกรรมดังกล่าวได้ด้วยดี และได้ผลดีในการควบคุมอาการชัก และการนำประโยชน์ที่ได้นั้นมาใช้ในการดำรงชีวิตอีกด้วย

โชคดีครับน้องออย