My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 8: วงจรเลวร้าย เครียด กดดัน ชัก

วันนี้ แม่ขับรถมารับหนูกลับจากคณะ แม่ทักทายหนูด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเช่นเคย

“วันนี้ลูกได้ทำอะไรมาบ้าง”

“ตอนเช้าไปออกตรวจแผนกวางแผนครอบครัว ตอนบ่ายได้ไปช่วยอาจารย์สอนแล็บกรอส(การผ่าครูใหญ่ วิชากายวิภาคศาสตร์)ให้น้องๆมาค่ะ” หนูตอบอย่างร่าเริง

“ดีแล้ว ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ลูกมีความสุข” แม่ตอบ “แม่รู้แล้วล่ะว่าทำไมออยถึงต้องมาเป็นแบบนี้”

รอยยิ้มบนใบหน้าของหนูเปลี่ยนเป็นสีหน้าฉงนขึ้นมาทันที

“แม่คิดว่า โรคลมชักของหนู เกิดจากความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) แม่รู้สึกว่าหนูเครียดมาตั้งแต่จบ ม.6 แล้วหนูก็เครียดสะสมมาเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว หนูไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย” แม่เล่าทั้งน้ำตา “เพราะลูกเข้มแข็งเกินไป”

หนูถึงกับอึ้งไปชั่วขณะ รู้สึกเหมือนจะร้องไห้ แต่หนูก็ได้แต่เก็บความรู้สึกเอาไว้

“ที่ผ่านมา ไม่ว่า จะมีเรื่องอะไรเข้ามาในชีวิต หนูแทบจะไม่บอกป๊ากับแม่เลย เพราะกลัวป๊ากับแม่จะไม่สบายใจ หลายครั้งที่ป๊าพยายามผลักดันให้หนูเรียน และหนูรู้สึกกดดันสักแค่ไหน หนูก็ไม่เคยบ่น บางทีหนูก็ไม่พูดอะไรเลยด้วยซ้ำ ป๊าเลยทำอย่างนี้กับหนูมาเรื่อยๆ หนูยิ่งเครียด การเรียนยิ่งแย่ลง ป๊าก็พยายามสรรหาความรู้มากมายมาให้หนู ทั้งๆที่หนูเองก็รับไม่ไหวแล้ว แต่ทำไมหนูไม่เคยโวยวาย ไม่เคยเถียงสักครั้ง บางอย่างลูกก็แสดงออกบ้างได้ไหม ให้ป๊ารู้บ้างว่าหนูเครียด แม่ไม่อยากเห็นลูกเป็นแบบนี้อีกแล้ว”

จริงอย่างที่แม่ว่า แม่รู้เรื่องนี้ได้อย่างไร สิ่งที่เก็บซ่อนอยู่ในใจหนูมานาน ตอนนี้แม่ค้นหามันเจอแล้วหรือ

หนูนึกถึงคำพูดของเพื่อนเก่าของหนูคนหนึ่ง เธอสนิทกับหนูมาก สมัยเรียน ม.ปลาย ตอนนั้นเพื่อนในกลุ่มจะชอบชวนกันไปเดินเล่นหลังเลิกเรียน ไปนั่งคุยกันอยู่ร้านนมด้วยกันบ่อยๆ มีเพียงหนูคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ค่อยได้ไปกับเพื่อน ตอนเย็นถ้าไม่ไปเรียนพิเศษ ก็กลับบ้านมาอ่านหนังสือ นานๆทีจะได้ไปกับเพื่อนสักครั้ง ถ้าขอแม่ได้ หรือป๊าไม่อยู่

เพื่อนคนนี้ก็รู้เรื่องราวในครอบครัวของหนูพอสมควร ครั้งหนึ่ง เธอเคยถามหนูว่า

“เธออยู่แบบนี้ เธอไม่เครียดตายหรอกหรือ”

“คงไม่มั้ง เราชินแล้วล่ะ”

“ระวังนะ ถ้าเธอยังอยู่แบบนี้ต่อไป โดยไม่พูดอะไรให้ป๊าเธอรู้เลย สักวันเธอต้องระเบิดแน่ๆ”

ถึงหนูจะรู้ว่าป๊าเห็นว่าการไปเที่ยวเล่น ดูหนัง กินข้าวกับเพื่อนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่หนูก็ไม่เคยขอป๊าเลยสักคำ ก่อนหน้านี้อาจจะเคยขอนานๆครั้ง แต่พอป๊าอนุญาตก็รู้ว่าป๊าไม่ค่อยชอบ ถ้างั้นหนูมาอยู่บ้านให้ป๊าสบายใจก็ได้

พอหนูเข้ามหาวิทยาลัย หนูก็พยายามขอป๊ากับแม่มาอยู่หอให้ได้ เพื่อให้หนูได้ทำอะไรที่อยากทำบ้าง หนูได้ทำกิจกรรมมากมาย ทั้งร้องเพลงประสานเสียง เล่นดนตรี ละครคณะ เป็นประธานชมรมเต้น ซ้อมการแสดงให้รุ่นน้อง และอีกหลายๆอย่างที่หนูรู้ว่า ถ้าหนูบอกป๊าแล้ว ป๊าต้องไม่พอใจแน่ๆ หนูเลยคิดว่าไม่บอกดีกว่า แต่ในใจก็ยังรู้สึกผิดอยู่ดี

ปกติหนูจะกลับบ้านทุกวันเสาร์ อาทิตย์ หนูก็ต้องอ่านหนังสือ ซึ่งที่จริงมันก็เป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าวันที่หนูไปเรียน หนูจะไม่อ่านเลย และหนูไม่ชอบให้ใครมาคุมหนูอ่านหนังสือ แต่ต่อหน้าป๊าหนูก็ต้องอ่าน แม้จะไม่รู้สึกสบายใจเท่าการอ่านคนเดียว แต่อย่างน้อยก็ทำให้ป๊ามีความสุข

บางครั้ง ถ้าหนูเกิดมีกิจกรรมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วหนูขอไปทำกิจกรรม ป๊าจะไม่พอใจเป็นอย่างมาก คิดว่าหนูเอาเวลาไปทุ่มเทให้กิจกรรมมากเกินไป

ชีวิตช่วงที่หนูเรียนมหาวิทยาลัยจึงเหมือนมี 2 ด้าน การเรียนแพทย์ซึ่งต้องเรียนหนักอยู่แล้ว หนูรู้สึกว่ามันหนักมากขึ้นเมื่อต้องอยู่บนความคาดหวังและความกดดันจากครอบครัว หนูเลยพยายามหาทางออกโดยการทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งทำให้หนูมีความสุขเฉพาะช่วงที่ทำกิจกรรมนั้น พอกลับบ้านไป ก็ยิ่งรู้สึกแย่กว่าเดิม เพราะโดนบ่นประจำว่าเอาเวลาไปทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ยิ่งเครียดก็ยิ่งหาทางออกโดยวิธีเดิมๆ และก็ยังเกิดปัญหากับป๊าเหมือนเดิม จนครั้งหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว จึงตัดชีวิตอีกด้านอื่นออกให้หมด ด้านที่มีแต่ความร่าเริงสดใส ให้เหลือด้านเดียว คือ ด้านที่ป๊าต้องการให้หนูเป็น

เอาไงเอากัน ลองดูสักตั้ง จะเป็นไรไป หนูใช้เวลาตั้งแต่หลังปีใหม่ที่ผ่านมากับการเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อเตรียมสอบประเมินผลระดับชาติ (NL) และเรียนชั้นคลินิก เหลือเวลาไปเรียนเต้นเพียงอาทิตย์ละชั่วโมงครึ่ง ซึ่งก็เป็นวันเดียวที่หนูได้ออกกำลังกายในหนึ่งสัปดาห์

ช่วงก่อนสอบ NL เป็นช่วงที่หนูทุ่มเทกับการอ่านหนังสือมาก วันๆ แทบจะไม่กินไม่นอน หนูไม่เคยแสดงความเหน็ดเหนื่อยออกมาให้ใครเห็น แต่ความเครียดที่สะสมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้หนูเริ่มรู้สึกว่า เวลาบางช่วงของหนู มันหายไปโดยที่หนูไม่ทราบว่าหายไปได้อย่างไร

หลังเปิดเทอมขึ้นชั้นคลินิกเพียงหนึ่งสัปดาห์ หนูก็ทราบว่าสอบไม่ผ่าน NL และหลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้ทราบว่าหนูเป็นลมชัก

หนูไม่เคยคิดเลยว่า ทั้งการที่ได้ทราบข่าวร้าย การปรับตัวในการเรียนชั้นคลินิก และการปรับตัวกับโรคประจำตัวที่ไม่เคยรู้มาก่อน ในเวลาพร้อมๆกัน มันจะยากขนาดนี้ การเรียนที่หนักมากขึ้น ต้องอยู่เวร ตื่นแต่เช้า แต่หนูก็นอนดึกไม่ได้ ต้องทานยาประจำ ซึ่งยาก็ทำให้ง่วงจนมีปัญหาในการเรียน บางครั้งจึงไม่ทานยา อาการก็เป็นมากขึ้น ยิ่งช่วงไหนเครียด ทำงานหนัก ก็ยังมีอาการอยู่เรื่อยๆ แม้จะทานยาครบ การเรียนแย่ลง ทำงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ โดนรุ่นพี่ว่า บางคนก็ไม่เชื่อ คิดว่าแกล้งทำ ทั้งยังมีความรู้สึกที่ว่าเราไม่เหมือนเพื่อน โดนเพื่อนล้อเวลาที่เพื่อนเห็นตอนที่มีอาการ ป๊าและแม่ก็ยังทำใจลำบากกับเรื่องนี้ ยิ่งทำให้ป๊าพยายามผลักดันหนูมากขึ้น เพื่อให้เรียนได้ทันเพื่อน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทำให้หนูรู้สึกว่า ความเดียวดายเป็นสิ่งที่หนูต้องการมากที่สุดในขณะนี้ แม้จะโดดเดี่ยว แต่ก็สบายใจที่ไม่มีใครเห็นตอนที่มีอาการ หนูเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนๆ คุยกับป๊าและแม่น้อยลง เวลาว่างพยายามอ่านหนังสือ แต่พอจับหนังสือขึ้นมาก็รู้สึกว่าไม่อยากอ่าน หนูไม่มีความสุขเลย บางทีหนูก็หนีมาเล่นไวโอลินอยู่คนเดียว ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงไวโอลินแสนเศร้า ก็พอจะทำให้คลายเหงาลงได้บ้าง

หนูยังคงไปเรียนเต้นสัปดาห์ละครั้งอยู่ ซึ่งก็ยังทำให้หนูมีความสุขได้เหมือนเดิม แต่พอกลับจากคลาส กลับสู่ชีวิตเดิมๆ ความรู้สึกมันช่างต่างกันเหลือเกิน หลังจากนั้น หนูเลยรู้สึกไม่อยากไปเรียนเต้นอีก

พอกลับมาบ้าน กะว่าจะหยิบเครื่องดนตรีสักชิ้นมาเล่นก่อนอ่านหนังสือ แต่ก็โดนป๊าเบรกเสียก่อน

“ตอนนี้มันไม่ควรจะเอาเวลามาทุ่มเทกับของพวกนี้แล้ว”

ไม่เล่นก็ไม่เล่น หนูหนีเข้าห้องนอน ล็อกประตู ไม่อยากเจอใครทั้งนั้น เหมือนกลายเป็นคนมีปัญหา รู้สึกเซ็ง ไม่อยากอ่านหนังสือ ไม่อยากเล่นดนตรี หรือทำอะไรทั้งนั้น อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ ทั้งวันทั้งคืน

หนูรู้สึกว่าชีวิตเริ่มดำดิ่งสู่ห้วงแห่งความทุกข์ วันๆ ไม่มีอะไรดีๆเกิดขึ้นในชีวิตเลย จนบางทีหนูก็รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก แต่หนูก็ไม่กล้าทำอะไรทั้งนั้น เพราะถ้าหนูจากโลกนี้ไปแล้ว แม่หนูจะอยู่อย่างไร แม่เคยบอกว่าหนูคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตแม่ แม่พยายามมาหลายปี กว่าจะได้ลูกคนแรก และถึงแม้ว่าป๊าจะกดดันหนูแค่ไหน ป๊าคงไม่อยากให้จุดจบของหนูเป็นแบบนี้

หนูตัดสินใจอยู่ในโลกแห่งความเหงาต่อไป ตั้งใจจะเรียนให้จบเพื่อครอบครัว และเพื่อคนอื่นๆ

ชีวิตหนูตอนนี้ มันกลับกลายเป็น 2 ด้านเหมือนเดิมแล้ว แต่มันเป็น 2 ด้าน ที่เหมือนไม่ใช่ตัวตนของหนูสักด้าน หลายๆคนมักจะได้เห็นชีวิตของหนูเพียงด้านเดียว ทุกคนต่างบอกว่าหนูก็ดูมีความสุขดี มีเพียงหนูเท่านั้น เมื่อเวลาอยู่คนเดียว ก็เหมือนอยู่ในด้านที่มืดมน

หนูยิ้มให้กับคนอื่นๆอยู่ตลอด แต่หนูไม่เคยยิ้มให้ตัวเองเลย

มานั่งคิดอีกที สิ่งที่แม่พูดอาจจะจริงก็ได้ อาการที่มากขึ้น สัมพันธ์กับความเก็บกดที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ตั้งแต่มีอาการครั้งแรกตอน ป.5 จนถึง ม.6 เท่าที่จำได้ มีเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดจากอาการนี้ เพียง 3-4 ครั้ง

ปี 1 หนูเคยถูกเพื่อนทักตอนอ่านสมุดจดเล็คเชอร์ ว่าเหมือนเนื้อหาหายไปบางช่วง และเคยมีเพื่อนทักหนู แต่หนูไม่ตอบ เพื่อนก็นึกว่าหนูหยิ่ง และโกรธหนูไปเลย (ซึ่งเรื่องนี้หนูก็เพิ่งทราบจากเพื่อนเมื่อไม่นานมานี้)

ปี 2 เกิดอุบัติเหตุรถชนครั้งแรกในชีวิต โดยที่หนูเองก็ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทั้งๆที่สติก็ยังดีอยู่ และสอบติดดาวหลายวิชา แต่ก็ยังผ่านมาได้อย่าเฉียดฉิว

ปี 3 หนูเรียนไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่จบ สอบตก 4 วิชา สอบไม่ผ่านการประเมินรวบยอด (comprehensive) และ NL เพราะทำข้อสอบไม่ทัน

ปี 4 หนูสอบตกไป 1 กอง และกองที่หนูกำลังเรียนอยู่ในขณะนี้ หนูก็เรียนไม่ทัน ทำข้อสอบไม่ได้ และตัดสินใจลาพักการเรียนไปแล้ว

เสียงของแม่ทำให้หนูตื่นจากภวังค์

“ต่อไปนี้ ถ้าป๊าทำให้หนูเครียด หนูบอกป๊าเลยนะ ไม่งั้นแม่จะจัดการเอง เข้าใจไหม”

หนูรู้สึกกังวลกับคำพูดของแม่ หนูอาจจะรู้สึกว่าลมชักเป็นปัญหาใหญ่กับชีวิตของหนูแล้ว มันจะใหญ่มากขึ้น เพราะมันจะทำให้ป๊าและแม่ทะเลาะกันอีกหรือ

คำว่า“ระเบิด” ที่เพื่อนหนูเคยเตือนไว้ ตอนนี้หนูเข้าใจแล้ว ว่ามันหมายความว่าอย่างไร

บทสรุป ความเครียดมีผลต่อโรคลมชักและอารมณ์เศร้า บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคลมชักจะมีความเครียดเรื้อรัง ทั้งปัจจัยภายนอก คือความกดดันจากความคาดหวังของพ่อแม่ การแข่งขันด้านการเรียน/การสอน การยอมรับจากเพื่อน และปัจจัยภายใน คือการตัดสินตัวเองว่าไม่ดีพอ ไม่เหมือนคนอื่น ไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้กดดันตัวเอง ความเครียดสัมพันธ์กับความถี่ของการชักและความร่วมมือในการรับประทานยา ยิ่งเครียด ยิ่งชักและไม่อยากทานยา การรักษาโรคลมชักให้ได้ผลดีนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย พ่อ แม่ คนในครอบครัว เพื่อน แม้กระทั้งคนในสังคม เพราะถ้าคนรอบข้างไม่เข้าใจ ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ทำให้มีความเครียดมากขึ้น เมื่อมีความเครียดมากขึ้นก็ทำให้มีอาการชักมากขึ้น ควบคุมการชักได้ยากขึ้น หรือเข้าสู่วงจรอันเลวร้าย เครียด กดดัน ไม่ทานยา ชักมากขึ้นก็ยิ่งเครียดมากขึ้น