My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 5: สาเหตุหนึ่งของการสอบตก

ครั้งแรกที่เริ่มเอะใจว่า ตัวเองต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่ๆ การเรียนในชั้น ปี3 แม้จะไม่ต้องปรับตัวมากเหมือนตอนขึ้นปี 2 แต่เนื้อหาก็ยากและเยอะขึ้นเรื่อยๆ หนูโชคดีที่เป็นคนตั้งใจเรียนและไม่เคยหลับในห้องเรียนเลย ถ้าง่วงก็จะดื่มกาแฟ และนั่งตาตื่นอยู่ในห้องเรียนตลอดเวลา

แน่นอนว่า ใครจดเล็กเชอร์เก่งๆ ก็จะเป็นที่หมายตาของเพื่อนๆ เวลาเพื่อนจดไม่ทันก็จะยืมเล็กเชอร์ของหนูไปลอก เพราะเห็นหนูจดตลอดและไม่เคยหลับในห้องเลย แต่บางครั้งหนูก็เคยโดนเพื่อนทักอะไรแปลกๆ เกี่ยวกับเล็กเชอร์ของหนู

“นี่เธอจดอะไรของเธอเนี่ย บางช่วงเธอก็จดดีมากเลยนะ แต่ทำไมบางช่วงก็ไม่รู้เรื่องเลย บางช่วงก็หายไปไหนก็ไม่รู้ ลืมจดรึเปล่า” “ไม่รู้สิ”

ตอนนั้นหนูก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติ หนูคงจะเป็นแบบนี้อยู่แล้ว และหนูก็ยังสามารถเรียนต่อไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร สมาธิคงหลุดหายไปบางช่วงกระมัง

ช่วงปี 3 เทอม 2 หนูได้ทำกิจกรรมแข่งขันประกวดเชียร์ระหว่างคณะ ซึ่งหนูต้องคิดท่าเต้นให้น้องๆเชียร์หลีดเดอร์ แม้ว่าจะเป็นงานที่หนูถนัดอยู่แล้ว แต่ก็หนักเอาการเลยทีเดียว ทุกๆวันหนูต้องซ้อมเต้นให้น้องๆถึงเกือบเที่ยงคืน หลังจากซ้อมเสร็จก็ต้องกลับไปอ่านหนังสือ เตรียมเนื้อหาสำหรับวันต่อไปอีก กว่าจะได้นอนก็ประมาณตีสาม แต่ละคืนมีเวลานอนแค่ 3-4 ชั่วโมง ตอนเช้าตื่นมาก็อัดกาแฟเต็มที่ แล้วก็ไปเรียนเช่นเดิม

วันหนึ่งๆ ในชีวิตหนูก็วนเวียนอยู่เป็นวงจรเช่นนี้ไปวันๆ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนูเรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่คิดว่าเพราะความยากของเนื้อหา การเรียนแล้วไม่เข้าใจคงเป็นเรื่องธรรมดา

กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ถึงวันประกาศผลสอบปลายภาคของชั้นปี 3 เป็นไปได้อย่างไร หนูสอบตกถึง 4 วิชา ทั้งๆที่หนูก็ขยันเรียนมาตลอด ทั้งชีวิตที่ผ่านมาหนูก็ไม่เคยสอบตกเลย หนูงงมากว่ามันเกิดอะไรขึ้น จนวันหนึ่ง เมื่ออาจารย์สุดา(อาจารย์ประจำชั้น)เข้ามาทักทายหนู

“ว่าไงน้องออย การเรียนเป็นอย่างไรบ้าง”

ใครจะเชื่อว่า คำถามนี้กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตหนูจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

หนูเล่าปัญหาทั้งหมดให้อาจารย์สุดาฟัง ทั้งๆที่หนูก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร ตอนนั้นคิดไปเองว่าหนูน่าจะสมาธิสั้น หนูอยากลองปรึกษาอาจารย์ภาควิชาจิตเวชดู แต่หลังจากที่อาจารย์ใช้เวลาซักประวัติเป็นเวลายาวนาน อาจารย์กลับสงสัยว่าหนูจะเป็นอย่างอื่น

“แล้วเวลาหนูเหม่อลอย เรียนหนังสือแล้วหลุดหายบ่อยๆนี่ หนูจำได้ไหมว่าตอนนั้นคิดเรื่องอะไรอยู่”

“ไม่ทราบค่ะ หนูว่าหนูไม่ได้คิดอะไรเลยนะคะ แต่บางทีเหมือนรู้สึกว่าเมื่อกี๊เป็นอะไรสักอย่าง แต่จำไม่ได้น่ะค่ะ” เพราะเหตุนี้ ตอนแรกอาจารย์สงสัยว่าหนูจะเป็นการชักชนิดนั่งนิ่งเหม่อลอย (absence seizure) และแนะนำให้หนูไปปรึกษาอาจารย์สมศักดิ์ หนูจึงได้รู้จักอาจารย์ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์ส่งหนูไปตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ EEGและผลก็ออกมาปกติ

หลังจากนั้นหนูยังคงมีอาการเหม่อลอยบ่อยๆ อยู่ อาจารย์จึงได้ส่งหนูไปตรวจอีกครั้ง แต่คราวนี้ให้หนูอดนอนมาก่อนวันตรวจ 1 คืน จะได้กระตุ้นให้เกิดคลื่นผิดปกติได้ง่าย ร่วมกับการตรวจให้หายใจแรง ลึก (hyperventilation) และใช้ไฟกระพริบด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการชัก

ระหว่างตรวจหนูไม่ทราบเลยว่าหนูมีอาการชักหรือไม่ รู้แค่ว่าตอนนอนตรวจอยู่ หนูหลับไปช่วงหนึ่ง นอกนั้นหนูก็ตื่นตลอด หนูไม่ได้คิดอะไรมากว่าผลการตรวจจะเป็นอย่างไร จนกระทั่งหนึ่งสัปดาห์ถัดมา อาจารย์สุดาโทรมาหาหนู

“ออย พี่มีเรื่องที่ต้องคุยกับแม่น้องด่วนเลยนะ”

“ทำไมหรือคะ” หนูงงว่าทำไมอาจารย์ต้องทำเสียงเหมือนตกใจอะไรขนาดนั้น

แต่หนูก็ตกใจเช่นกันเมื่อได้รับคำตอบ

“ก็ผลคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ของน้อง มันให้ผลบวก (positive) พี่เลยจำเป็นต้องคุยกับแม่ของน้อง เรื่องการรักษาโรคลมชักค่ะ”

บทสรุป อาการชักแบบนั่งนิ่งเหม่อลอยนั้นพบบ่อยในวัยเรียน เด็กที่เป็นนั้นมักจะมีปัญหาในการเรียนเป็นหลัก คือ ผลการเรียนตกต่ำลงถึงแม้จะตั้งใจเรียน เพราะระหว่างเรียนนั้นมีอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ดังนั้นเด็กที่มีปัญหาการเรียนถึงแม้ตั้งใจเรียนก็ควรคิดถึงรคลมชักเป็นสาเหตุหนึ่งด้วยของการเรียนที่มีปัญหา อาการชักไม่ใช่เพียงแค่ชักกระตุก หมดสติเหมือนคนทั่วไปเข้าใจ แต่มีอาการหลายแบบ ให้สังเกตว่าอาการเหม่อ จำไม่ได้ชั่ววูบ เป็นบ่อยจนมีผลต่อการเรียนรู้ จากเรียนเก่งเป็นเรียนตก การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อหาว่ามีหลักฐานการชักหรือไม่ อาจตรวจไม่พบในครั้งแรก ต้องทำหลายครั้ง ใช้หลายเทคนิคจึงจะพบ