My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 4: เกือบไปแล้วน้องออย

ชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์ช่วงปีแรกเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ด้วยความที่ยังตื่นเต้นกับการเป็นน้องใหม่ หนูได้รู้จักเพื่อนๆ ได้ทำกิจกรรมมากมาย ทั้งเล่นดนตรีคลาสสิก เป็นนักร้องวงประสานเสียง เป็นอาสาสมัครจิตอาสา ไปแข่งเต้นแอโรบิค การเรียนก็ยังไม่เครียดมาก คล้ายๆที่เคยเรียนตอน ม.ปลาย

ปี 2 ช่วงต้นเทอมก็เหนื่อยพอสมควร เพราะการเรียนปี 2 จะเริ่มเข้าสู่วิชาเกี่ยวกับการแพทย์มากขึ้น และมีการเรียนแบบกลุ่มย่อย (small group) ทำให้ต้องค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น ทำให้ต้องปรับตัวมากขึ้น นอนดึกเป็นประจำ พอเริ่มมีน้องใหม่เข้ามา หนูและเพื่อนๆ ต้องจัดกิจกรรมเชียร์คณะให้รุ่นน้อง ต้องทำงาน ซ้อมเชียร์กันจนเหนื่อย

จนวันหนึ่ง ขณะขับรถกลับบ้าน อยู่ๆ หนูก็รู้สึกว่า หนูฝันไปหรือเปล่า เมื่อมองออกไปผ่านบานกระจกรถที่แตกกระจาย หนูเห็นหน้ารถคันใหญ่อยู่ชิดติดกับข้างรถของหนู ข้างรถฝั่งคนขับบุบเข้ามาเกือบครึ่งคัน แล้วยิ่งแปลกใจเข้าไปใหญ่ เมื่อมองตัวเองแล้วพบว่า มีแผลโดนกระจกบาดเล็กๆ และมีรอยฟกช้ำเพียงเล็กน้อย หรือว่า...เราตายไปแล้ว

ท่ามกลางความงงของตนเอง พี่คนขับรถบรรทุกปูนซีเมนต์คันนั้นก็ลงจากรถ มองผ่านกระจกแตกร้าวเข้ามา “น้องๆ ไม่เป็นไรใช่ไหม”

หนูมานั่งคิดทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ทราบอยู่ดีว่าหนูขับรถไปชนกับรถบรรทุกปูนแบบนั้นได้อย่างไร คนขับรถบรรทุกปูนบอกหนูว่า “พอไฟเขียว พี่ก็ขับตรงมาเลนขวา ส่วนน้องเลี้ยวซ้ายมา และเกาะเลนซ้ายมาเรื่อยๆ อยู่ก็ตรงเข้ามาเลนขวาทันทีเลย พี่บีบแตรแล้วด้วยนะ” หนูก็งงว่าทำไมหนูไม่ได้ยินเสียงแตรเลย และไม่รู้สึกถึงแรงสะเทือนขณะที่รถชนเลยด้วยซ้ำ แต่ก็คิดว่าหนูอาจจะเหนื่อยจนหลับไปก็ได้ (ทั้งๆที่ไม่ได้ง่วง) ตอนนั้นพ่อกับแม่อยู่ต่างประเทศ หนูต้องโทรเรียกเพื่อนแม่มาช่วยจัดการให้ โชคดีที่พี่เขาไม่เอาเรื่องเอาราว เรียกเพียงค่าเสียหาย เนื่องจากพี่เขาต้องรีบขนปูนที่ผสมแล้วในถังหมุนหลังรถไปส่ง ถ้าทิ้งไว้นานปูนจะแข็งตัว

สรุปว่าเรื่องนี้ต้องขอบคุณ ปูน ด้วยนะคะ ไม่งั้นคงต้องหาคำอธิบายกันยาวเลย

บทสรุป คนเป็นโรคลมชักมีโอกาสเกิดอาการชักขณะขับรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมอาการไม่ได้ โดยเฉพาะในคนที่ทำงานหรือเรียนหนักจนเหนื่อยล้า จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคลมชักจากหลายโรงพยาบาลในประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยลมชักมากกว่าร้อยละ 50 ทำใบขับขี่และขับรถ ที่น่าตกใจคือ 1ใน 3 เคยมีอาการชักขณะขับรถและเกิดอุบัติเหตุขึ้น โชคดีที่ไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการทำใบอนุญาตขับขี่สำหรับผู้ป่วยลมชัก ดังนั้นหมอที่ดูแลผู้ป่วยลมชัก ควรแนะนำผู้ป่วยทุกคนเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะขับรถ ดังนั้นผู้ป่วยที่ควบคุมอาการไม่ได้ก็ไม่ควรขับรถ ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาห้ามผู้ป่วยลมชักที่ควบคุมอาการชักไม่ได้ห้ามขับรถ ต้องควบคุมการชักได้นานมากกว่า 1 ปี จึงจะอนุญาตให้ขับรถได้