My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 22: ประสบการณ์ตรงของน้องออย

หนูอยู่ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน (community medicine : commed) มาได้ 2 สัปดาห์แล้ว คิดไปคิดมา วิชานี้เหมือนเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียน และเป็นการพักผ่อนไปในตัว พร้อมทั้งได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องเรียนอีกด้วย

การเรียนวิชานี้ต้องออกไปนอกสถานที่บ่อยๆ โดยเฉพาะออกไปในชนบท แค่สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม บรรยากาศที่รมรื่น แค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว ยิ่งได้รู้จักกับชาวบ้าน ยิ่งรู้สึกประทับใจ ตอนไปดูงานที่ รพ.อุบลรัตน์ หนูก็ได้รู้จักกับชาวบ้านที่เคยมีอุปสรรคมากมายในชีวิต บางคนมีทั้งหนี้สิน ทั้งโรคภัย แต่เขาก็ยังสู้ไม่ถอย และหลังจากที่อาจารย์อภิสิทธิ์และอาจารย์ทานทิพย์(อาจารย์แพทย์ประจำโรงพยาบาลอุบลรัตน์) ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชน โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ มีเงินออม มีความรู้ในการรักษาสุขภาพ ตอนนี้พวกเขามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เท่านี้ยังไม่พอ ทุกวันที่ได้ไปเยี่ยมชาวบ้าน นักศึกษาแพทย์ทุกคนจะได้รับประทานอาหารเที่ยงที่ทำจากวัตถุดิบที่ชาวบ้านปลูกเอง ทั้งสด ทั้งอร่อย ปลอดสารพิษ กินไม่หมดก็ยังเอาไปโยนลงบ่อ เป็นอาหารปลาได้อีกด้วย

อาทิตย์ที่ผ่านมาหนูได้ไปดูงานที่ รพ.น้ำพอง กับเพื่อนๆ กลุ่มเดียวกันอีก 3 คน ซึ่งพวกเราจะต้องค้างคืนที่นั่นเป็นเวลา 6 วัน 5 คืน

ทันทีที่เราทั้ง 4 คน ก้าวลงจากรถตู้ พี่พยาบาลคนหนึ่งเข้ามาถามเราว่ามาทำอะไร พวกเราก็ตอบไปตามนั้น พี่พยาบาลดูสงสัยและบอกว่าไม่เห็นมีหนังสือแจ้งมา ให้ลองไปพบผู้อำนวยการดู แต่เมื่อไปถึงฝ่ายธุรการ ผู้อำนวยการได้สอบถามเลขาว่ามีหนังสือแจ้งจากทางคณะมาหรือไม่ ก็พบว่าไม่มีเลย แต่ท่านก็ยังใจดีมาก พยายามหาคนจัดที่พักให้ และแนะนำสถานที่เล็กน้อย และชวนพวกเราไปทานอาหารเที่ยงหลังเก็บของเข้าที่พัก

“เอ่อ.. นี่คือบ้านที่เราจะนอนจริงๆ หรือ” เพื่อนคนหนึ่งถาม เมื่อพวกเราเปิดประตูเข้าไปในบ้านพักครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นเก่าคร่ำครึ กลิ่นอับชื้นและฝุ่นฟุ้งกระจาย บานกระจกหน้าต่างแตก มุ้งลวดมีรู ห้องน้ำมีตะไคร่น้ำเกาะเต็มไปหมด และมืดมาก พวกเราขึ้นไปชั้น 2 มีเตียงสองชั้นทำด้วยเหล็กอยู่ 2 เตียง ฟูกบางๆ แต่หนักและแข็ง หมอนเล็กๆ มีผ้าปูที่นอนที่มีตราโรงพยาบาล ซึ่งดูเหมือนได้ผ่านการใช้ปูที่นอนบนวอร์ดมาหลายครั้ง บางผืนขาดและมีรอยเปื้อน

“น่ากลัวจัง เค้ารู้สึกแปลกๆ ยังไงไม่รู้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในบ้านนี้เลย”

“เอาเหอะน่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ยังไงก็เก็บของและปูที่นอนไปก่อนแล้วกัน” หนูบอกเพื่อนๆ แล้วรีบจัดข้าวของให้เรียบร้อย ปูที่นอนเสร็จแล้วก็ไปนั่งรอพบอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ที่ห้องพักแพทย์

แพทย์รุ่นพี่ผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านเข้ามา เห็นพวกเราจึงทักทาย ถามว่ามาทำอะไร อยู่กันกี่วัน พักที่ไหน “บ้านไม้ข้างโรงพยาบาลค่ะ” พวกเราตอบ แต่แล้วพี่ก็ทำหน้าสงสัย แล้วบอกพวกเราว่า “แปลกจัง ปกติพี่เห็นเพื่อนๆ รุ่นก่อน เขาไปกลับกันนะ”

นั่นยังไม่ทำให้เราคิดอะไรมาก เพราะน้ำพองคงใกล้ขอนแก่น ไปกลับก็คงไม่ยาก แต่แล้วพวกเราก็หวั่นวิตกทันที เมื่อแพทย์รุ่นพี่ผู้ชายเดินเข้ามา ทักทายอย่างเป็นมิตรเช่นเดียวกัน แต่พอพวกเราบอกพี่ว่าพักที่บ้านหลังนั้น ก็ได้รับคำเตือนมาว่า “เหอะๆ ระวังผีนะน้อง”

เรื่องยังไม่จบ เมื่อเราไปที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล เพื่อขอรหัสเข้าใช้อินเทอร์เนต พี่พนักงานใจดีก็ไถ่ถามเหมือนพี่แพทย์ 2 คนที่ผ่านมา พอพูดถึงเรื่องที่พัก พี่เขาก็บอกว่า “บ้านนั้นเคยมีคนเจอบ่อยนะ”

แค่ครั้งแรกที่เห็นบ้านก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่พอเราได้ยินเรื่องเดียวกัน จากคนละคน คนละเวลา และคนละสถานที่แบบนี้ ตอนนี้เพื่อนๆ ก็ชักจะอยู่ไม่สุขกันเสียแล้ว

มีแต่หนูคนเดียวที่ยังรู้สึกเฉยๆ ไม่รู้เพราะอะไร อาจเป็นเพราะหนูได้ผ่านมรสุมชีวิตอันสุดแสนหนักมาแล้ว ระยะหลังๆ นี้หนูรู้สึกว่าควบคุมจิตใจตัวเองได้มากขึ้น ไม่ค่อยหวั่นไหวกับสิ่งใด หรือเพราะว่าหนูมีอาการชักแบบได้ยินเสียง เห็นภาพ หรือมีความรู้สึกแปลกๆ บ่อยๆอยู่แล้ว เลยไม่รู้อันไหนชัก อันไหนผีกันแน่ แต่ครั้งแรกที่มีอาการแบบนี้ก็กลัวมาก ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอบ่อยเข้าก็เริ่มชินแล้ว

แต่สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้จัดการกันอย่างไร คงยังไม่ขอเล่านะคะ

กิจกรรมที่พวกเราได้ทำระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลน้ำพองส่วนใหญ่ก็จะเป็นการสัมภาษณ์และสอบถามตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำข้อมูลไปเขียนรายงาน และโรงพยาบาลนี้มีหน่วยเวชปฏิบัติครอบครัว ซึ่งจะเน้นการป้องกันโรค ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช้าวันหนึ่งพวกเราจึงได้ไปออกตรวจผู้ป่วยนอกสถานที่ (OPD) เคลื่อนที่กับพี่พยาบาลกัน จัดเป็นคลินิกเบาหวาน โดยไปแปลงโฉมศาลาหมู่บ้านให้เป็น OPD ชั่วคราว ซึ่งบริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) หรือครบวงจร คือมีตั้งแต่เจาะตรวจน้ำตาล ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดรอบเอว ติดตามผลการรักษา ซักประวัติและตรวจร่างกายดูภาวะแทรกซ้อน มีการให้ความรู้ และรับยาได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

OPD ในโรงพยาบาลที่มีแต่ผู้ป่วยนั่งเงียบๆ เรียงรายเป็นแถวรอคอยให้พยาบาลเรียกชื่อ เพื่อเข้าไปคุยกับคุณหมอเพียงเวลาสั้นๆ และยังต้องเข้าคิวรับยา เสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่ OPD นี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากโดยสิ้นเชิง ภาพที่หนูเห็นคือคนไข้ทุกคนนั่งบนเก้าอี้ล้อมวงกัน คุยกันอย่างสนิทสนม เพราะทุกคนต่างอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน รู้จักกัน และยังเป็นโรคเดียวกันอีกด้วย พี่พยาบาลก็จะมาให้ความรู้ สอนผู้ป่วยในการดูแลตัวเอง สุดท้ายก็จะมีการสรุปผลการตรวจน้ำตาลของแต่ละคน ใครที่ควบคุมน้ำตาลได้ดีก็จะให้แนะนำผู้ป่วยคนอื่นๆ และมีการปรึกษากันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้ ว่าใครมีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากปัญหาของคนไข้โรคเรื้อรังอื่นๆ คือ การลืมทานยา ทานยาไม่ครบ และตั้งใจไม่ทานยา

มาถึงตรงนี้ เพื่อนๆ เริ่มเบื่อกันเสียแล้ว แต่หนูยังคุยกับคนไข้ได้อย่างสนุกสนาน อาจจะเป็นเพราะหนูเข้าใจในปัญหาของคนไข้มากกว่าเพื่อน และอยากได้ประสบการณ์จากคนไข้เองด้วย ว่าเหตุผลที่เขาไม่ทานยาคืออะไร

คนไข้หลายคนยังมีความเชื่อว่ากินยาแล้วจะไตวาย ทั้งๆที่ขนาดยาก็ไม่ได้สูงมาก และน่าแปลกที่บางคนบอกว่าไม่รู้ว่าอันนี้ยาอะไร และทานเพื่ออะไร โดยเฉพาะวิตามินบี ที่ข้างซองยาจะเขียนแค่ว่าเป็นยาบำรุง เราเลยต้องมาปรับความเข้าใจกันใหม่หมดเลย ว่าอันไหนยาอะไร ทานเพื่ออะไร ต้องทานอย่างไร เวลาไหนบ้าง

ในโลกนี้คงจะมีหมอมากมายที่รักในวิชาชีพ ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด แต่จะมีหมอสักกี่คนที่เข้าใจคนไข้อย่างแท้จริงว่าปัญหาของคนไข้คืออะไร ถ้าหนูไม่ได้เป็นคนไข้เองก็คงไม่รู้ บางอย่างมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ประสบการณ์ที่คนไข้เล่าให้ฟัง บางทีก็เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ผิวเผินของเรื่องราวทั้งหมด การที่หนูเข้าใจแก่นแท้ของปัญหาทำให้หนูรู้ว่าหนูควรจะพูดกับคนไข้อย่างไร ควรให้ข้อมูลอะไรบ้าง และช่วยคิดหาวิธีแก้ไข

อาจารย์คะ เมื่อไหร่หนูถึงจะได้เป็นหนึ่งในหมอไม่กี่คนกลุ่มนั้น ที่เข้าถึงจิตใจของคนไข้ ถึงแม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง แต่มีความสามารถเพียงพอที่จะรักษาคนไข้ได้ และใช้ประสบการณ์ตรงนี้มาช่วยให้การรักษาเกิดผลประโยชน์สูงสุด และทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บทสรุป ประสบการณ์การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเท่านั้นจะรู้และเข้าใจ แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอาจจะไม่เข้าใจได้ทั้งหมด ถ้าไม่เคยเจ็บป่วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งคือ ทุกข์กาย ทุกข์ใจเป็นอย่างไร ถ้าจะได้อานิสงส์ต้องเข้าใจถึงแก่นสัจธรรมคือ ไตรลักษณ์ ทุกสิ่งในโลกล้วน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กิจกรรมการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกแพทย์ทราบถึงชีวิตจริงของการเป็นแพทย์ สามารถเข้าจึงบริบทต่างๆ และได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน หอผู้ป่วยหรือโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์