My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 20: ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

หลังจากที่กลับมาเรียนอีกครั้ง หนูก็รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย

หนูต้องขอบพระคุณอาจารย์ด้วยนะคะ ที่ได้ปรับยาให้หนูอีกรอบก่อนจะกลับมาเรียน หลังจากที่หนูตัดสินใจเลือกที่จะควบคุมอาการให้ได้มากขึ้น แม้ว่ายาตัวใหม่จะมีผลอันไม่พึงประสงค์ใดๆ ก็ตาม ตราบใดที่ยังทนได้ หนูก็พร้อมจะสู้ จนกว่าหนูจะไม่มีอาการชักเลย หรือระดับยาสูงจนเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่ยังไงตอนนี้ผลดีก็มากกว่าอยู่ดีค่ะ

บล็อกแรกของวิชาที่หนูเริ่มเรียนคือวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation) ซึ่งดีที่ไม่หนักเท่าวิชาหลัก (major) ส่วนใหญ่การเรียนจะเป็นเลกเชอร์ ที่จริงมันเริ่มตั้งแต่เรียนเลกเชอร์วิชาอายุรศาสตร์ ช่วงหลังจากที่ลาพักการเรียนไปแล้ว ที่หนูรู้สึกว่าสิ่งที่อาจารย์พูดนั้นต่อเนื่องกว่าแต่ก่อน ยิ่งพอมาเรียน Rehab ที่หนูได้ฟังอาจารย์สอนตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้หนูเรียนแล้วเข้าใจ เชื่อมโยงความรู้ในแต่ละเรื่องได้ และเก็บประเด็นสำคัญได้มากขึ้นในการเรียนเพียงรอบเดียว

หนูเพิ่งนึกออกว่าตอนอยู่ปี 2 หนูเคยปรึกษาอาจารย์ปัทมา(ภาควิชากายวิภาคศาสตร์:anatomy) ว่าทำไมเวลาเรียนเลกเชอร์หนูจดตามไม่ค่อยทัน บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าอาจารย์พูดยังไม่จบ แล้วก็ข้ามไปอีกเรื่อง พอชะโงกหน้าไปดูชีทประกอบการบรรยาย (handout) ของเพื่อน ปรากฏว่าเพื่อนจดอะไรไม่รู้เต็มเลย แล้วที่หนูไม่ได้จดนี่อาจารย์พูดไปตั้งแต่เมื่อไร สงสัยหนูคงไม่ค่อยมีสมาธิในการฟังก็เป็นได้ หนูก็งงเหมือนกัน แต่พอรู้สาเหตุและแก้ปัญหาได้ตรงจุด หนูก็เข้าใจแล้วค่ะว่ามันเกิดอะไรขึ้น

แม้ว่ายากันชักทำให้หนูมีปัญหากับผลข้างเคียงหลายอย่าง ช่วงแรกทำอะไรแทบไม่ได้เลย ความคิดช้า ไม่ค่อยมีสมาธิบ้าง หนูต้องทนความง่วงแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน แค่ยืนก็ยังจะล้ม หนูพยายามฝืนความง่วงและทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เวลาเรียนก็ต้องพยายามคิดตาม ควบคุมสมาธิให้อยู่กับการเรียน ซึ่งมันไม่ได้ง่ายเลย ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยง่วงแล้ว แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องมีความจำ ความคิดช้าลงมาก ไม่ค่อยมีสมาธิ พฤติกรรมเปลี่ยนไป ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เครียดบ่อยๆ อาการชักน้อยลงแต่ก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ยิ่งเครียดยิ่งชักบ่อยขึ้น และเป็นภูมิแพ้หนักกว่าเดิม

หนูต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ทนกับความเครียด ปัญหากับการเรียน กับเพื่อนๆ และครอบครัวแล้ว มันคงจะยากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ตอนนั้นทรมานมาก แต่พอเมื่อผ่านจุดๆหนึ่ง ที่รู้สึกว่ามันเป็นที่สุดของชีวิตแล้ว หลังจากนั้นเหมือนหนูเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลยค่ะ จากที่เคยเรียนตามเพื่อนไม่ทัน ตอนนี้หนูฟังอาจารย์ได้ต่อเนื่อง และไม่เคยหลับในห้องเรียนเลย แม้บางทีจะง่วงแต่ก็ทนไหว ไม่ต้องพึ่งกาแฟเหมือนเพื่อนหลายคน จนเพื่อนแซวเล่นๆ ว่า หนูสมควรได้รับรางวัล “บุคคลที่เรียนเลกเชอร์ทนที่สุดในรุ่น” เพราะตอนนี้เรียนอย่างไรก็ไม่เคยหลับเลย

และอีกเรื่องที่หนูไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ คือหนูสอบผ่าน NL1 แล้ว

แม้ว่าคะแนนจะได้เพียงคาบเส้น แต่หนูก็พอใจแล้ว เพราะหนูได้ตั้งใจทำอย่างดีที่สุดแล้ว พอหนูรู้ก็รีบวิ่งไปบอกเพื่อนสนิท โทรหาเพื่อนที่อยู่ที่อื่น บอกอาจารย์หลายๆท่าน รวมถึงคนข้างบ้าน

แต่พอนึกถึงคนในครอบครัว ความตื่นเต้นดีใจนั้นก็ดับวูบลงทันที ถ้าหนูบอกวันนี้ คนแรกที่หนูต้องบอกคือป๊าเพราะแม่ไม่อยู่ หนูคิดว่าจะบอกป๊าดีไหม คะแนนได้เพียงเท่านี้ ถึงจะผ่าน แต่ป๊าคงหวังให้หนูได้มากกว่านี้

หนูตัดสินใจไม่บอก อยากให้ตัวเองพอใจอยู่คนเดียวก็พอ และแล้วอารมณ์ก็พาให้ความคิดตัวเองล่องลอยไปเรื่อยเปื่อย อยู่ๆ ประโยคภาษาอังกฤษประโยคหนึ่งที่หนูเคยได้ยินตอนม.ปลายก็ผุดขึ้นมาในความคิด

The condition of love is to love without condition.

เงื่อนไขของความรัก คือการรักโดยไม่มีเงื่อนไข

ตอนแรกก็รู้สึกว่าประโยคสั้นๆนี้ใช้คำได้สละสลวยดีจัง แต่หนูก็จับมันเอามาใส่เข้ากับสิ่งที่กำลังคิดอยู่ตอนนี้ ที่จริงหนูก็เคยคิดหลายครั้ง ว่าถ้าหนูไม่ใช่คนที่ทำอะไรเก่งตั้งแต่เด็ก ไม่ได้เรียนหมอ เป็นคนพิการ สติปัญญาต่ำกว่าปกติ ป๊ายังจะรักหนูไหม

ถ้าหนูจำเป็นต้องเก่ง ต้องขยัน ดูดีในสายตาคนอื่น ป๊าจึงจะรักหนู นี่หรือคือเงื่อนไขที่ว่า หรือว่าที่จริงแล้ว ป๊าไม่ได้รักหนูเลย

บอกตัวเองให้หยุดได้แล้ว คิดไปก็เครียดเปล่าๆ ยังไงๆ ก็ผ่านแล้ว สุดท้ายหลังจากประกาศผลห้าวัน ป๊าก็มาถามหนูเอง พอได้ยินว่าหนูผ่าน แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวคำชม หรือเลี้ยงฉลอง แต่แม่เล่าให้ฟังว่า วันนั้นป๊าเดินยิ้มไปทั้งวัน

สรุปแล้ว ความคิดของหนูก็เป็นเพียงจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งสิ้นเลย

บทสรุป ผู้ป่วยโรคลมชักมักมีจิตตก มองตนเองบกพร่อง โชคร้าย มองคนอื่นไม่ยอมรับ คาดหวังสูง-มีเงื่อนไข มองโลกในแง่ร้าย อารมณ์เศร้า หงุดหงิด ท้อแท้ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จะผ่านสภาวะทุกข์นี้ไปได้โดยเปลี่ยนโลกทัศน์ ไม่ว่าตนเอง คนอื่นหรือโลกแวดล้อมไปในทางบวก เช่น ตัวเราก็เก่งพอใช้ไม่แพ้คนอื่น คนอื่นเข้าใจและไม่ได้สร้างเงื่อนไขอย่างที่เราคิด โลกน่าอยู่ มีสิ่งสวยงามให้น่าชม การคิดบวกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนเราควรต้องฝึกไว้ให้มาก ผมยังเชื่อว่าการคิดบวก ไม่ใช่การคิดเข้าข้างตนเอง เพียงแต่การคิดบวกนั้นเป็นการคิดที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงที่เกิดขึ้น การยอมรับ การเปลี่ยนมุมมอง มองในทางที่ดีย่อมทำให้เราเป็นสุข และเมื่อเราเป็นสุข เราก็จะไม่มีความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญทำให้เกิดอาการชัก และเสียสุขภาพด้านอื่นๆด้วย