My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 2: ครั้งแรก ที่รู้จัก โรคลมชัก...

บันทึกที่หนูจะเขียนในวันนี้ จะขอเล่าถึง ครั้งแรก ที่รู้จัก โรคลมชัก..

จะเรียกว่ารู้จักก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะตอนนั้นหนูยังไม่เคยรู้เลยว่าอาการลมชักเป็นอย่างไร ตอน ป.4 หนูย้ายมาเข้าโรงเรียนพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนสองภาษา เนื่องจากคุณพ่อเห็นความสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก และระบบการเรียนการสอนแบบฝรั่งที่ไม่เน้นสอนให้เก่งมาก แต่ให้คิดเป็น ทำเป็น และมีประสบการณ์จากนอกห้องเรียน

สมัยนั้นโรงเรียนสองภาษายังไม่เป็นที่นิยมมาก ห้องเรียนชั้นหนึ่งมีนักเรียนไม่ถึง 10 คน หนูมีความสุขมากกับการเรียนในห้องเล็กๆ คุณครูใจดี เอาใจใส่ ดูแลทั่วถึง บางวันก็จะพาไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน เพื่อนทุกคนสนิทกันดี

จนวันหนึ่ง หลังจากเรียนมาได้ครึ่งเทอมแรก มีเพื่อนอีกคนเข้ามา ครั้งแรกที่เห็นก็รู้แล้วว่า คงไม่ใช่รุ่นเพื่อนแน่ๆ พี่คนนี้ชื่อ พี่วี (นามสมมติ) สาวอายุ 14 ปี ที่เข้ามาเรียนกับเด็ก ป.4 หนูกับเพื่อนๆก็แอบพูดกันอยู่ว่า แก่กว่าพวกเราตั้ง 4 ปี แล้วมาเรียนกับเราทำไม

ต่อมาพวกเราได้รู้ว่า พี่วีเป็นโรคลมชัก ทำให้เขามีปัญหาในการเรียนหนังสือ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ย้ายโรงเรียนมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยแก้ปัญหาได้สักที จึงได้ย้ายมาเรียนกับพวกเรา พ่อของเขาคิดว่าเป็นโรงเรียนเล็ก คุณครูสามารถดูแลได้ใกล้ชิด เพื่อนๆน่าจะเข้าใจ แม้ว่าลูกจะต้องเรียนกับรุ่นน้อง อย่างน้อยก็ดีกว่าให้ออกจากโรงเรียนไปเลย

แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ทุกๆวัน พี่วีจะโดนน้องๆกลั่นแกล้งและล้อเลียนเสมอ สมัยนั้นหนูก็ยังซนตามประสาเด็ก เพื่อนเขารุมล้อก็ไปช่วยเพื่อนล้อด้วย แต่พี่วีก็ยังอดทนมาก ไม่เคยไปฟ้องคุณครูเลย ยังพูดกับเราดีๆ พยายามเข้าหาเพื่อนๆ

พี่วีเคยบอกว่า “พี่วีเกิดวันวาเลนไทน์ เป็นที่มาของชื่อพี่ เดี๋ยวพอถึงวันเกิดพี่ พี่จะทำบราวน์นี่มาให้ทุกคนกินนะ พี่ว่ามันอร่อยกว่าเค้กอีก” แต่ก็โดนน้องๆตอบกลับไปว่า “คนเป็นลมชักอย่างพี่วี ทำขนมเป็นด้วยเหรอ” ตลอดเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน พี่วีไม่มีเพื่อนสนิทเลย หนูคิดว่าเขาก็คงอยากมีเพื่อน เลยไปชวนเขาคุยบ้าง แต่พอไปอยู่กับพี่วี เพื่อนกลุ่มเดิมก็จะไม่ยอมเล่นด้วยอีก หนูเลยจำเป็นต้องกลับมาอยู่กับเพื่อนเก่าโดยไม่รู้จะทำอย่างไรดี

แม้ว่าจะได้คุยกับพี่วีเพียงช่วงสั้นๆ แต่หนูก็ยังคงไม่ลืมเรื่องนั้นได้เลย พอหนูถามเรื่องแม่ของพี่วี เพราะยังไม่เคยเห็นแม่เขาสักครั้ง พี่วีเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะที่พี่วีกำลังว่ายน้ำอยู่ในแม่น้ำ อยู่ๆก็เกิดอาการชัก แม่ซึ่งว่ายน้ำไม่เป็นก็กระโดดลงน้ำไปช่วยลูกอย่างไม่คิดชีวิต เมื่อคว้าตัวลูกได้ก็พยายามดันให้หัวลูกพ้นจากน้ำ หลังจากนั้นก็มีคนมาช่วย พี่วีถูกดึงขึ้นจากน้ำก่อน เพราะเป็นคนที่กำลังชัก ไม่มีใครทราบว่าแม่ว่ายน้ำไม่เป็น แม่พี่วีจึงจมน้ำและเสียชีวิต

พี่วีอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพียงครึ่งปี พี่วีก็ได้ย้ายไปโรงเรียนอื่น ก่อนถึงวันวาเลนไทน์ไม่นาน พี่วีจึงยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองให้เราเห็นเสียด้วยซ้ำ ว่าเขาสามารถทำ “บราวน์นี่” ที่แม้แต่พวกเราก็ยังทำไม่เป็น น่าเศร้าที่พี่วีได้เกิดในวันแห่งความรัก แต่กลับไม่ได้รับความรักจากคนอื่นๆ และยังสูญเสียคนที่เธอรัก และรักเธอมากที่สุดอีกด้วย

ถ้าย้อนเวลากลับได้ หนูอยากกลับไปขอโทษพี่วี สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เคยล้อเลียน ขังพี่วีไว้ในห้องน้ำ ไม่รู้ว่าตอนนี้ พี่วีจะอยู่แห่งหนใด หนูอยากให้พี่รู้ไว้ว่า หนูยังคงคิดถึงพี่วี และจะเป็นกำลังใจให้พี่เสมอ ขอบคุณสำหรับทุกเรื่องราว และบทเรียนอันล้ำค่านี้ ถ้ามีโอกาสได้เจอกันอีก หนูยังหวังว่าจะได้ชิมบราวน์นี่ฝีมือพี่วีอยู่นะคะ

บทสรุป เด็กที่ป่วยเป็นโรคลมชัก มักถูกรังเกียจและถูกล้อเลียนจากเพื่อนๆ ทำให้เสียโอกาสที่จะพัฒนาทั้งด้านการเรียนและสังคม ผลกระทบคือเด็กคนนั้นเติบโตมาด้วยปมด้อย มองโลกในแง่ลบและมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนทั่วไป “คนเป็นโรคลมชัก ต้องการความรักและความเข้าใจ” จากหลายการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติของครอบครัวต่อเด็กที่เป็นลมชัก พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งพ่อแม่ของเด็กปกติไม่อยากให้ลูกเล่นหรือเรียนร่วมกับเด็กที่เป็นลมชัก เพราะกลัวว่าลูกจะติดโรคลมชักจากเด็กที่เป็นลมชักผ่านทางน้ำลาย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อยมาก ดังนั้นเราต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องต่อลูกๆ เพื่อที่ลูกเราจะได้ไม่ล้อเพื่อนและแกล้งเพื่อน