My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 19: ความต้องการที่ดีเลิศของชีวิต?

หลังจากชักรุนแรงครั้งนั้น ยอมรับเลยว่าหลายๆอย่างในชีวิตหนูเปลี่ยนไป (แต่อาจารย์อาจจะไม่ได้สังเกต) ช่วงแรกๆ ความมั่นใจของหนูลดลงไปเลย หนูไม่กล้าอยู่คนเดียว ส่วนใหญ่หนูจะใช้เวลาอยู่กับพี่หน่อยและพี่ยอ(พยาบาลประจำห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง)ที่ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง นั่งอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ หนูไม่อยากอ่านหนังสืออยู่ห้องสมุดแล้วอยู่ๆ ชักขึ้นมาท่ามกลางสายตาของรุ่นพี่และรุ่นน้อง แม้ว่าเราจะเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าใจโรคนี้กันก็ตาม

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้หนูไม่เคยลืมกินยาอีกเลย ไม่กล้าแม้แต่จะลดยาเองหรือไม่กินยา และยังได้เข้าใจความรู้สึกของคนไข้มากขึ้น ว่าทำไมคนไข้ลมชักถึงกลัวการอยู่ในสังคมกันนัก ด้วยเหตุนี้หนูเลยคิดหาวิธีที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจโรคลมชักกันมากขึ้น แต่ยังคิดไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไรดี

ประจวบเหมาะกับโอกาสที่อาจารย์ขอให้หนูช่วยทำปฏิทินของกลุ่มวิจัยโรคลมชักของปีหน้าให้พอดี หนูเลยตั้งใจว่าจะใส่ข้อมูลหลายๆ อย่างเกี่ยวกับโรคลมชักเข้าไปด้วย เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจโรคลมชักมากขึ้น

ช่วงนี้หนูอาจจะไม่ค่อยได้เขียนไดอารี่มาเล่าให้อาจารย์ฟังบ่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้ ถึงจะลาพักการเรียนแต่ก็มีอะไรให้ทำมากมาย

เช้าวันจันทร์หนูมาเข้ากลุ่มกับคนไข้ เสร็จแล้วไปราวด์กับอาจารย์ต่อ บ่ายไปเรียนเลกเชอร์ เย็นกลับมาซ้อมดนตรี ฝึกเต้น ว่างๆหนูยังมีงานที่หนูต้องทำอีก ทั้งเตรียมกิจกรรมให้คนไข้ แปลงานวิจัย และยังมีพิเศษกว่าทุกงานที่หนูเคยทำมา นั่นคือทำปฏิทินโรคลมชักของปีหน้า

เพิ่งรู้จริงๆ ว่ากว่าจะเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะอันหนึ่ง ที่เคยมองเห็นเป็นแค่ของแจกฟรี(ที่ได้มาจากบริษัทยาบ่อยๆ) นั้นไม่ใช่ของที่ทำง่ายๆเลย ตั้งแต่ออกแบบ คิดหัวข้อหลักของงาน หารูปมาลง แล้วยังมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคลมชักที่ยังต้องเอามาลงในปฏิทิน

หนูพยายามทำส่วนเนื้อหาให้ดีที่สุด เมื่อได้แบบ รูป เนื้อหา เสร็จแล้ว ก็เหลือแต่คอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่ยังเกินความสามารถหนู

ตอนแรกหนูขอให้พี่เขียด(เจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยโรคลมชัก)ช่วยทำให้ เนื่องจากอยากได้อย่างที่หนูต้องการ จะเอาแบบนั้น แบบนี้ หนูติดต่อคุยกับพี่เขียดได้เสมอ พอหนูรับปากอาจารย์ว่าทำแล้ว หนูก็ต้องทำให้มันดีที่สุด แต่พี่เขียดก็มีงานที่ต้องทำเช่นกัน ถ้าจะรอก็คงไม่ทัน หนูเลยไม่อยากรบกวน ส่งให้โรงพิมพ์ช่วยทำให้น่าจะดีกว่า

เรื่องนี้สอนให้หนูรู้ว่า ชีวิตเราก็ไม่จำเป็นต้องดีเลิศไปเสียทุกอย่าง บางทีเราก็จะเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ตอนแรกหนูยังยึดติดกับความคิดของตัวเอง แต่บางครั้งเราก็ต้องยอมรับความคิดของคนอื่น คำว่าดีที่สุดในแบบของหนู คนอื่นอาจจะไม่ได้มองว่าดูดีก็ได้ ไม่แน่นะ แบบที่พี่ที่โรงพิมพ์จัดให้อาจจะสวยกว่าที่เราคิด หนูได้ทำมันเพียงเท่านี้ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมากมายแล้ว

บทสรุป ความสมบูรณ์แบบเป็นอุดมคติที่มนุษย์ใฝ่ฝัน ยึดติดและไขว่คว้า ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีใครสมบูรณ์แบบได้เลย ก่อให้เกิดความทุกข์จากไม่พอใจสิ่งที่มีและเป็น อยากได้สิ่งที่ไม่มีและไม่เป็น การที่น้องออยได้มาช่วยจัดทำปฏิทินเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคลมชักสำหรับแจกจ่ายให้ผู้ป่วยและผู้ที่สนใจ ก็เป็นการทำให้น้องออยสามารถใช้ประสบการณ์ตรง มาร้อยเรียงและนำเสนอต่อคนทั่วไป ให้เข้าใจว่าสิ่งที่ควรเข้าใจ และปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยลมชักที่ถุกต้องคืออะไร

การให้ความรู้ด้วยปฏิทินเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มวิจัยโรคลมชักได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่อง เหตุผลคือ สิ่งที่คนเราต้องใช้เกือบทุกวันคือปฏิทิน เราจึงนำความรู้หรือสิ่งที่ควรทราบมาใส่ไว้ในรูปแบบปฏิทิน และที่สำคัญรูปที่เรานำมาใส่นั้นเป็นรูปของในหลวงและพระราชวงศ์ ดังนั้นจะเป็นปฏิทินที่ทุกคนต้องการ และใช้สม่ำเสมอ ที่สำคัญมีการเก็บสะสมด้วย