My Epilepsy Diary ลมชัก…..ฉันรักเธอ ตอนที่ 11: ความสุขจากการให้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“ออย ไปเรียนเต้นได้แล้วลูก รีบๆ ลุกเร็วๆ เดี๋ยวไม่ทัน”

เสียงแม่ดังขึ้นมาจากชั้นล่าง ขณะที่หนูกำลังนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสืออย่างเรื่อยเปื่อยอยู่บนเตียง หนูใช้เวลาอ่านเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกมา 3 ชั่วโมง แต่ยังอ่านไม่จบสักเรื่องเลย

เวลาเกือบเที่ยงแล้ว หนูก็ยังไม่หิว ที่จริงหนูยังรู้สึกไม่อยากทำอะไรนอกจากอยู่เฉยๆ ทั้งๆที่ไม่มีเรื่องให้คิดมากเหมือนแต่ก่อน แต่หนูก็ยังรู้สึกหดหู่ แม้อากาศวันนี้จะแจ่มใสกว่าเมื่อวาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจของหนูแจ่มใสขึ้นสักนิด

หนูจำใจลุกจากเตียง เตรียมกระเป๋า ออกไปทานข้าวเที่ยงกับป๊าและแม่ ปกติหนูจะมีคลาสเรียนเต้นตอนบ่ายวันอาทิตย์ ซึ่งจะเป็นวันที่หนูมีความสุขที่สุดในสัปดาห์ เพราะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่หนูรักมาตั้งแต่เด็ก

คลาสโมเดิร์นแจ๊สในวันนี้ไม่ได้ทำให้หนูรู้สึกดีขึ้นมามากนัก แม้ว่าหนูอาจจะเต้นได้ดีกว่าอีกหลายๆคนในคลาส และเต้นได้ต่อเนื่องกว่าแต่ก่อน (ช่วงที่มีอาการบ่อยๆ บางทีอยู่ๆ หนูก็หยุดเต้นไปเลย) หนูไม่ชอบเลย ทำไมถึงเป็นแบบนี้

มองไปห้องข้างๆ เป็นคลาสบัลเล่ต์ของน้องๆ ชั้นประถม เหล่านางฟ้าตัวน้อยต่างพากันขยับปีกอย่างสนุกสนาน ทำให้หนูนึกถึงภาพตัวเองเมื่อครั้งยังเด็ก ที่กำลังเริงระบำในชุดบัลเล่ต์กระโปรงบาน ความรู้สึกที่เคยมีตอนนั้น ตอนนี้มันแทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว

หนูคงจะปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความทุกข์มากเกินไป บางทีหนูคิดว่าถ้าได้ยาคลายกังวลสักหน่อยคงจะดีขึ้น แต่หนูก็เบื่อที่จะกินยาแล้วเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่หนูต้องทำ คือพยายามเอาชนะมันให้ได้ด้วยตนเอง

วันนี้ เป็นวันที่หนูรอคอยมานาน

เช้าวันจันทร์ที่บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน แต่น่าแปลกที่หนูรู้สึกครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมาเฉยๆ ที่วันนี้หนูจะได้มาเจออาจารย์สมศักดิ์ และคนไข้คนอื่นๆของอาจารย์ที่คลินิกโรคลมชัก (Epilepsy Clinic) พี่พยาบาลประจำคลินิกที่ชื่อ พี่หน่อย กำลังง่วนอยู่กับการต่อสายไฟกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เตรียมเครื่องวัดความดันและอุปกรณ์ต่างๆ หนูเข้าไปทักทาย แล้วถามว่าให้ช่วยอะไรไหม แต่พี่หน่อยบอกให้ไปนั่งรอในห้องเลย อีกไม่นานจะเริ่มกิจกรรมกลุ่มแล้ว

ห้องจัดกิจกรรมกลุ่มของผู้ป่วยลมชัก เป็นห้องที่หนูเคยเข้ามานั่งเรียน ซักประวัติคนไข้อยู่หลายครั้ง แต่วันนี้บรรยากาศในห้องนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทุกๆคนที่มาร่วมกิจกรรมนี้อยู่ในฐานะเดียวกันหมด คือเป็นคนไข้ลมชัก

แม้ว่าเสื้อกาวน์สีขาวของหนูจะทำให้หนูดูแตกต่างไปจากคนไข้คนอื่นๆบ้าง แต่หนูก็ไม่รู้สึกว่าหนูแตกต่างกับใครเลย เรานั่งล้อมวงกัน พี่หน่อยให้คนไข้แนะนำตัวทีละคน พร้อมทั้งเล่าอาการของตนเอง ปัญหาและประสบการณ์ต่างๆจากการเป็นลมชัก ซึ่งแต่ละคนก็เคยมีเหตุการณ์แปลกๆ แตกต่างกันออกไป

หลังจากที่หนูเล่าประสบการณ์และการดูแลตัวเองของหนูจบ คนไข้คนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ท่านบอกหนูว่า “ ผมเชื่อว่า คุณหมอต้องหายครับ”

ความรู้สึกเศร้าหมองที่เคยมีมันหายไปไหนหมดไม่รู้ รอยยิ้มปรากฏขึ้นบนใบหน้าของหนูตลอดกิจกรรมในช่วงเช้า หลังเข้ากลุ่มเสร็จ หนูก็ได้นั่งดูคนไข้อยู่ข้างอาจารย์ แม้ว่าตอนแรกหนูหวังแค่จะได้เห็นคนไข้มากขึ้น แต่อาจารย์ก็สอนหนูไปด้วย ทั้งการซักประวัติอาการ ดูว่าคนไข้ทานยาอะไรบ้าง การดูคลื่นไฟฟ้าสมองแบบคร่าวๆ (ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องที่หนูอยากรู้มาก) การคุยกับญาติคนไข้ให้เข้าใจ แนะนำการดูแล และยังให้กำลังใจคนไข้อีกด้วย

หนูไม่ทราบว่าปกติอาจารย์ใช้เวลาคุยกับคนไข้คนหนึ่งนานหรือไม่ แต่การที่อาจารย์ถามเรื่องราวต่างๆจากคนไข้ ทำให้หนูได้ประสบการณ์จากคนไข้มากมาย บางทีเวลาอาจารย์ซักประวัติ หนูก็จะซักเพิ่มเล็กน้อย และเล่าประสบการณ์ของตนเองให้คนไข้ฟังบ้าง

เป็นครั้งแรกที่หนูรู้สึกสบายใจ และกล้าบอกคนไข้ได้อย่างไม่อาย ว่าหนูก็เป็นลมชักเหมือนกัน หนูเข้าใจความรู้สึกของคนไข้ และครอบครัวของคนไข้ หนูพยายามให้กำลังใจเขา แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้ให้กำลังใจหนูกลับมา แต่ทุกครั้งที่หนูบอกเขาให้อดทนและเข้มแข็ง หนูก็รู้สึกเหมือนหนูกำลังให้กำลังใจตัวเองไปด้วย

หนูต้องขอโทษด้วยนะคะถ้าทำให้อาจารย์เสียเวลา เพราะคนไข้ของอาจารย์เยอะมาก แต่อาจารย์ก็ยังสอนหนู จนรู้สึกเหมือนกำลังออกตรวจผู้ป่วยนอกกับอาจารย์อยู่ ไม่ใช่ลาพักการเรียนแล้วมาเพื่อหาประสบการณ์เฉยๆ นอกจากคนไข้ลมชัก อาจารย์ยังสอนหนูเวลาเจอคนไข้โรคอื่นอีกด้วย

นอกจากนี้ หนูยังได้รู้จักกับพี่ๆเภสัช พี่ๆพยาบาล ได้เห็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม คอยตรวจสอบความผิดพลาด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ใครที่บอกว่า “เธอลาพักการเรียนก็ไม่ต่างอะไรกับไม่พักการเรียน นั่นแหละ ในเมื่อเธอยังมาทำงานอยู่แบบนี้” หนูจะแอบเถียงในใจ ว่าไม่จริงหรอก หนูได้อะไรมากกว่าเพื่อนๆคนอื่นมากมายเลย

กว่าอาจารย์จะตรวจคนไข้เสร็จก็เกือบบ่ายโมง แล้วอาจารย์ยังต้องออกคลินิกบ่าย และยังมีธุระต่ออีกด้วย หนูเลยไม่อยากรบกวนอาจารย์อีก แต่หนูก็รู้แล้วว่าหนูอยากไปทำอะไรต่อ

หนูวิ่งหาป้าไก่(เจ้าหน้าที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง)อยู่พักใหญ่ กว่าจะรู้ว่าป้าไก่เอาเครื่องไปตรวจคนไข้ที่หอผู้ป่วย หนูเลยใช้เวลาตลอดทั้งบ่ายดูป้าไก่ทำคลื่นไฟฟ้าสมอง ช่วยสังเกตอาการของคนไข้ไปด้วยขณะตรวจ เนื่องจากการตรวจที่หอผู้ป่วย จะไม่ได้บันทึกวิดีโอไว้ น่าเสียดายที่คนไข้ไม่ได้มีอาการช่วงที่ตรวจ และคลื่นที่ออกมาก็ดูเหมือนจะปกติ

น้องผู้หญิงอายุ 20 ปี ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันไวทำร้ายตนเอง (SLE) นอนอยู่ที่หอผู้ป่วย 4ค เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา น้องมีอาการชักเกร็งและไม่รู้สึกตัว น้องจึงได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในวันนี้

ขณะที่ป้าไก่กำลังแกะผ้าก๊อซที่ติดขั้วไฟฟ้า (electrode) ไว้ทั่วทั้งหัวของน้องไว้ด้วยเจลเหนียวหนับ หนูเข้ามาคุยกับน้อง เล่าให้น้องฟังว่า “พี่ก็เป็นลมชักเหมือนกัน น้องไม่ต้องกังวลนะ อาจารย์ของพี่จะรักษาน้องให้ดีที่สุด”

ป้าไก่พยายามเช็ดเจลออกให้มากที่สุดแล้ว ยังทิ้งคราบขาวไว้บนเส้นผมของน้องอยู่เล็กน้อย(ครั้งหนึ่งที่หนูมาตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หนูไม่ทราบว่ายังมีคราบติดอยู่ที่หน้าผาก กว่าจะรู้ตัวก็ลงมาชั้นล่างแล้ว คนเดินผ่านไปเค้าหันมามองเต็มเลยค่ะ) น้องหันมามองหนูด้วยสีหน้าไม่สบายใจ ซึ่งหนูก็เข้าใจความหมายของน้อง

“สระผมด้วยน้ำอุ่นๆนะ ไม่เกิน 2 วันก็ออกหมดแล้ว อย่าใช้น้ำเย็นล่ะ” หนูหันไปบอกน้อง ก่อนจะยิ้มให้น้องแล้วเดินจากไปพร้อมป้าไก่

หนูกับป้าไก่กลับมาที่ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพราะป้าไก่ต้องมารอตรวจคนไข้อีกคนที่นี่ หนูบังเอิญเห็นกองกระดาษบนโต๊ะ จึงขอดู เมื่อได้เห็นหนูก็รู้สึกสนใจอย่างมาก เป็นงานวิจัยและบทความต่างๆเกี่ยวกับโรคลมชักมากมายที่พี่หน่อยรวบรวมไว้ มีงานวิจัยของอาจารย์ด้วย หนูเลยขอยืมไปอ่านบางส่วน ซึ่งป้าไก่ก็ยินดี

ฝนเริ่มตั้งเค้า หนูเลยลาป้าไก่ ระหว่างเดินกลับหอ ฝนเริ่มโปรยลงมาเล็กน้อย แม้ว่าวันนี้ท้องฟ้าจะเป็นสีเทา แต่โลกของหนูกลับสดใสขึ้นมาอีกครั้ง

วันนี้เป็นวันที่หนูมีความสุขที่สุดตั้งแต่หนูเป็นลมชักมา

ขอบพระคุณนะคะอาจารย์ และขอขอบคุณ พี่ๆทั้งพยาบาลและเภสัช ป้าไก่ และคนไข้ทุกๆคน ที่มอบความรู้สึกดีๆ นี้ให้หนู

บทสรุป การที่ผู้ป่วยได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จะช่วยให้เขาเหล่านั้นมีความสุข มีความรู้สึกเหมือนคนปกติ ไม่ใช่ความต่าง ผู้ป่วยยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วยแล้วช่วยให้ความภาคภูมิใจกลับมาและมีความสุขมากขึ้น การทำกิจกรรมกลุ่มโดยที่ผู้ป่วยเป็นผู้ร่วมดำเนินกิจกรรมเอง และมีพยาบาลเป็นเพียงผู้คอยสรุปประเด็นที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ป่วย เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาจากผู้ที่ประสบปัญหาด้วยตัวของตัวเอง จะทำให้ผู้ป่วยคนอื่นๆที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันได้เรียนรู้และมีความเชื่อมั่นมากกว่าการที่แพทย์บอก เพราะบางครั้งแพทย์เองไม่สามารถธิบายได้ชัดเจนเหมือนผู้ที่เคยประสบปัญหานั้นโดยตรง