ลมชัก:ลมชัก กับ ลมร้อน

ลมชักกับลมร้อน

อากาศร้อนในฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ เรียกว่าทำลายสถิติอุณหภูมิที่สูงสุด ผมพบผู้มีอาการชักมากขึ้นอย่างชัดเจน เราลองมาดูกันครับว่า ผู้มีอการชักจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในการรับมือลมร้อน ร้อนกาย แต่อย่าร้อนใจ ต้องติดตามดูครับ

ความจริงที่ควรรู้

  • จากการศึกษาผู้ป่วยในประเทศไทยพบว่าอากาศที่ร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีอาการชักได้ล่ายขึ้นอย่างชัดเจน
  • เหตุที่ทำให้มีอาการชักได้บ่อยขึ้นนั้น อาจเกิดจากอากาศที่ร้อนมาก ทำให้ผู้มีอาการชักพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับยาก และอาจไม่สบายได้ง่าย เหนื่อยง่ายขึ้น ทำให้กระตุ้นการชักได้ง่ายขึ้น

การปฏิบัติตัวในช่วงหน้าร้อน

  • ทานยากันชักให้สม่ำเสมอ บางครั้งอากาศร้อนทำให้บางคนมีอาการเบื่ออาหาร พอไม่ได้ทานอาหารก็เลยไม่ทานยากันชัก ก็จะทำให้มีอาการชักได้ง่ายขึ้น
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้สนิท ถ้านอนไม่หลับตอนกลางคืน ก็ต้องหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอในช่วงกลางวันสั้นๆ
  • ไม่ควรอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ หรือในแม่น้ำลำคลอง เพราะอาจเกิดอาการชักขึ้นได้ขณะอาบน้ำ ก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น สำลักน้ำ จมน้ำ หรือเสียชีวิตได้

เที่ยวทะเล น้ำตก เล่นสงกรานต์ได้หรือไม่

  • ก่อนอื่นต้องควบคุมอาการชักได้ดีก่อนจึงสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ดังนั้นต้องทานยากันชัก หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชักได้ง่ายขึ้น เมื่อควบคุมอาการชักได้ดีก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้
  • การเที่ยวทะเล ก็ต้องเล่นน้ำทะเลหรือนอนอาบแดดที่ไม่ร้อนมาก เพราะถ้าร้อนมากๆ เหนื่อยมากๆ ก็กระตุ้นทำห้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ควรเล่นน้ำทะเลหรือเล่นน้ำในสระว่ายน้ำกลางแดดที่ร้อนมากๆ จะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ควรเล่นกีฬาทางน้ำที่ผาดโผน เช่น บานานาโบ้ท สกีน้ำ เจ็ตสกี เป็นต้น
  • ไม่ควรเล่นกีฬาปีนหน้าผา เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายถ้ามีอาการชักขณะทำกิจกรรม
  • ระวังลื่นตกน้ำ ระหว่างเดินเที่ยวน้ำตก ถ้ามีอาการเซ ซึม ง่วงนอน ไม่ควรเที่ยวน้ำตก หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ
  • การเล่นสงกรานต์สามารถเล่นได้ แต่อย่าเล่นจนเหนื่อยมาก อย่าลืมทานยากันชัก อย่าให้ยาเปียกน้ำ
  • ช่วงปิดเทอม เด็กๆ จะเล่นน้ำกันมาก และเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้บ่อย ดังนั้นผู้ปกครองของเด็กที่มีอาการชักจะต้องระวังการเล่นน้ำของเด็ก และระวังการจมน้ำด้วย

ช่วงปิดเทอมต้องระวัง

  • การทานยาไม่สม่ำเสมอ เพราะเด็กๆ จะตื่นสาย ไม่ตรงเวลาเหมือนช่วงเปิดเทอม และอาจทานยากันชักไม่สม่ำเสมอได้บ่อย
  • การเล่นน้ำในสวนน้ำ สระน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง อาจเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ตกน้ำ จมน้ำได้บ่อย ตรงระวังให้ดี
  • การเล่นเกมส์ติดต่อกันยาวนานมากกว่าช่วงเปิดเทอม เพราะไม่มีเรียนหนังสือ ทำให้เด็กๆ นอนดึกมากขึ้น ก็ทำให้มีอาการชักได้ง่ายขึ้น

อากาศร้อน หน้าร้อน ต้องดูแลตนเองให้ดี ระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการชัก