ลมชัก:ลมชักกับการรักษา

ลมชักกับการรักษา

โรคลมชักเป็นโรคที่รักษาหาย และส่วนใหญ่แล้วตอบสนองดีต่อการรักษา แต่คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องว่าโรคลมชักเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และมีผลเสียต่อสมองอย่างมาก ดังนั้นเราควรรู้จักวิธีการรักษาโรคลมชักให้ดีขึ้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

โรคลมชักรักษาหายหรือไม่

  • โรคลมชักรักษาหายได้ พบว่าร้อยละ 65 ของผู้มีอาการชักรักษาด้วยยากันชักเพียง 1 ชนิด ก็สามารถรักษาให้หายได้ และที่เหลือเกือบร้อยละ 50 ตอบสนองดีต่อยากันชักตั้งแต่ 2 ชนิด มีพียงร้อยละ 15 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • ผู้มีอาการชักส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาด้านสติปัญญา สามารถเรียนหนังสือ ทำงานได้เหมือนคนอื่นๆ
  • ผู้มีอาการชักสามารถเรียนหนังสือ ทำงานได้ปกติ ถ้าควบคุมอาการชักได้ดี มีอาชีพที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ การขับขี่รถ กัปตันเครื่องบิน ทำงานกับเครื่องจักรกลขนาดใหญ่

การรักษาที่ดีประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • การทานยากันชักสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ทุกวัน ห้ามหยุดยาเอง
  • พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยากันชักทานเอง โดยไม่พบแพทย์ การพบแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา ผลข้างเคียงของยากันชัก การซื้อยาทานเองนั้นมีข้อเสีย คือ ไม่ได้มีการประเมินผลการรักษา บางครั้งไม่มีอาการชักที่ชัดเจน แต่จริงแล้วมีอาการชักแบบเหม่อ นิ่ง หรือมีอาการเตือน ผลข้างเคียงบางอย่างก็ต้องอาศัยการตรวจเลือด เช่น การทำงานของตับ เป็นต้น
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกสิ่งที่ทำให้เกิดการชักได้ง่ายขึ้น เช่น แอลกอฮอล์ อดนอน เครียด นอนดึก
  • กรณีทานยากันชักสม่ำเสมอ แล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์จะต้องประเมินความสม่ำเสมอในการทานยากันชัก โดยการตรวจวัดระดับยากันชัก ถ้าพบว่ามีระดับยากันชักที่สูงแล้ว แต่ก็ยังมีอาการชัก แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มยากันชักชนิดใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมอาการชัก จำนวนยากันชักส่วนใหญ่ในผู้ที่ควบคุมอาการได้ยาก มีจำนวนประมาณ 2-3 ชนิด การปรับยาไม่ได้ปรับทุกครั้งที่มีอาการชัก และก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ทุกครั้งที่มีอาการชัก การปรับยากันชักจะพิจารณาปรับยาทุก 2-3 เดือนที่มาติดตามการรักษาตามความเหมาะสม
  • การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ไม่ได้ผ่าตัดทุกคน

การรักษานานเท่าใด

  • การรักษานานเป็นระยะเวลา 3-5 ปี โดยประมาณ เริ่มจากการรักษาด้วยากันชักขนาดต่ำๆ ก่อนเสมอ และค่อยปรับยา ถ้ายังมีอาการชัก แต่ถ้าไม่มีอาการชักหลังจากเริ่มให้ยาขนาดต่ำ ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยากันชักอีก การทานยากันชักขนาดต่ำนั้น มีประโยชน์เพราะจะเกิดผลข้างเคียงของยากันชักต่ำกว่าขนาดสูง เนื่องจากต้องทานยานานหลายๆ ปี
  • การนับระยะเวลาว่าควบคุมอาการชักได้ 2 ปี เริ่มนับจากวันที่ไม่มีอาการชัก ไม่ได้นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ยารักษา ถ้าระหว่างรักษามีอาการชักซ้ำ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้นต้องควบคุมให้ไม่มีอาการชักเลยระหว่างการรักษา
  • หลังจากควบคุมอาการชักได้นานประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย แพทย์จะปรึกษากับผู้มีอาการชักว่าควรจะลดยากันชัก จะเห็นด้วยกับแพทย์หรือไม่ เพราะระหว่างการลดยากันชักนั้นอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการชักซ้ำใหม่ได้ จึงต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของผู้มีอาการชัก ครอบครัวตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้าเห็นด้วยกับการลดยากันชัก แพทย์ก็จะค่อยๆ ลดยาลง ครั้งละร้อยละ 15-20 ของขนาดยาเดิมทุกๆ 4- 6 สัปดาห์ จนกระทั่งหยุดยาได้

โรคลมชักเป็นโรคที่ได้ผลดีในการรักษา เพียงแต่ท่านต้องทานยากันชักสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม และปฏิบัตืตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด