ลดได้ ตัดได้ ผอมได้ (ตอนที่ 6)

ลดได้ตัดได้ผอมได้

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาจะน้อยลงหากมีการกินอาหารที่มีไขมันต่ำ ส่วนผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดและกินยา Orlistat แล้วเกิดอาการท้องเสีย แสดงว่า ยาคุมกำเนิดไม่ได้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เพราะถ่ายออกหมด ดังนั้น จึงควรหาวิธีคุมกำเนิดอื่นด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย

การผ่าตัดลดความอ้วน

การผ่าตัดลดความอ้วน (Weight loss surgery / Bariatric Surgery) จะใช้กับคนที่เป็นโรคอ้วนซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้เพราะการผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนและจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตภายหลังการผ่าตัดด้วย

การผ่าตัดลดความอ้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบย่อยอาหาร จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ผ่าตัดลดความอ้วนจะมีน้ำหนักลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15-30 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดและระดับความอ้วนที่เป็น บางคนหลังการผ่าตัดอาจไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างที่หวัง ในขณะที่บางคนเมื่อเวลาผ่านไปกลับมีน้ำหนักเพิ่มเหมือนเดิม

การผ่าตัดลดความอ้วนเป็นการช่วยให้มีการกินน้อยลงและเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น การผ่าตัดมีทั้งแบบเปิดหน้าท้อง (Open bariatric surgery) และแบบส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) โดยแบบเปิดหน้าท้องจะเหมาะกับผู้ที่อ้วนมาก และมีปัญหาทางด้านร่างกายมาก ส่วนการผ่าแบบส่องกล้องจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า มีรอยแผลเป็นน้อยกว่า และฟื้นตัวได้เร็วกว่า

อย่างไรก็ดี แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดลดความอ้วนหากพบว่า ผู้ป่วยมีโรคร้ายแรงอื่น ที่การผ่าตัดจะไม่ได้ช่วยทำให้ดีขึ้น เช่น

  • มะเร็งระยะลุกลาม (Advanced cancer)
  • โรคตับ (Liver disease)

หรือผู้ที่มีภาวะทางจิตซึ่งไม่สามารถจะปฏิบัติตนและเปลี่ยนแปลงชีวิตหลังการผ่าตัดได้ เช่น

  • ผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia)
  • ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์หรือเสพยาเสพติด (Abusing alcohol or drugs)

การผ่าตัดลดความอ้วนมีหลายวิธี แต่ที่นิยมกันมาก ได้แก่

  1. การรัดกระเพาะ (Gastric band / laparoscopic adjustable gastric band)
  2. การตัดกระเพาะ (Gastric bypass)
  3. การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy / gastric sleeve surgery)

แหล่งข้อมูล

1. Obesity. http://www.nhs.uk/conditions/Obesity/Pages/Introduction.aspx [2017, April 4].

2. Weight loss surgery. http://www.nhs.uk/conditions/weight-loss-surgery/Pages/Introduction.aspx [2017, April 5].

3. Bariatric Surgery. https://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/weight-control/bariatric-surgery/Pages/definition-facts.aspx [2017, April 5].