ลดได้ ตัดได้ ผอมได้ (ตอนที่ 1)

ลดได้ตัดได้ผอมได้

นายแพทย์วรบุตร ทวีรุจจนะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า โรคอ้วน (Obesity) หมายถึง ภาวะร่างกายมี BMI มากกว่า 30 kg/m2 ตาม WHO guideline เป็นภาวะที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน โดยทางอเมริกาพบมากถึงร้อยละ 30-40 ของประชากร ยุโรปพบได้ประมาณร้อยละ 20-30 เอเชียพบได้ประมาณร้อยละ 15-20

สำหรับประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 15 จากการสำรวจประชากรในปี 2553 นับเป็นปัญหาที่สำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข โดยแนวโน้มในอนาคตจะมีปริมาณผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นอย่างชัดเจน

โรคอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มี BMI มากกว่า 40 kg/m2 (Morbid obesity) การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะในเรื่องการรับประทานอาหารที่ขาดการควบคุม (ได้รับพลังงานมากเกินไป) และการออกกำลังกายที่น้อยลงของประชากรโลกในปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในปัจจุบัน

โรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนและการเสียชีวิต กล่าวคือ ภาวะอ้วนจะทำให้อายุขัย (Life expectancy) ลดลงประมาณ 6-7 ปี และสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคข้อเสื่อม เป็นต้น ดังนั้น การให้ความรู้และการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นายแพทย์วรบุตร กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนมีหลายวิธี ได้แก่ การรักษาโดยการควบคุมอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย การรักษาโดยยา และการรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการควบคุมอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย สามารถลดน้ำหนักของผู้ป่วยลงได้เพียงร้อยละ 5-10 โดยที่โรคร่วมของผู้ป่วยอาจดีขึ้นได้บ้าง

การรักษาด้วยยาในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพเพียงพอต่อการรักษา

นายแพทย์วรบุตร กล่าวอีกว่า การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาเดียวที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน กล่าวคือ สามารถลดน้ำหนักผู้ป่วยได้มากที่สุด รวมทั้งทำให้โรคประจำตัวผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก ประมาณร้อยละ 80-90 ทำให้ผู้ป่วยมีอายุขัยยืนยาวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยทั่วไปการผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วนอาศัยกลไก 3 ประเภท ได้แก่ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง (Restrictive procedure) การผ่าตัดเพื่อลดการดูดซึมอาหาร (Malabsorbtive procedure) และการผ่าตัดอาศัยทั้งกลไกการลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลงร่วมกับลดการดูดซึมอาหาร(Combine both restrictive and malabsorbtive procedure)

ซึ่งการผ่าตัดที่นิยมแพร่หลายที่สุดในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดสลีฟแกสสตร็กโตมี (Laparoscopic sleeve Gastrectomy) และ การผ่าตัดแกสสตริกบายพาส (Laparoscopic Roux-en-Y Gastric Bypass) โดยการผ่าตัดทั้ง 2 ประเภทนี้ จะอาศัยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) ซึ่งทำให้การเจ็บแผลน้อย นอนโรงพยาบาลสั้น และฟื้นตัวเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง (Explore laparotomy)

แหล่งข้อมูล

1. การผ่าตัดคนไข้โรคอ้วน. http://www.webmd.com/children/guide/obesity-children#1 [2017, March 31].