ลดโกหกลงสักนิด สุขภาพจิตจะดีขึ้น

ดร. Anita Kelly ศาตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Notre Dame ได้เปิดเผยถึงรายงานผลการวิจัยใหม่ว่า คนที่พูดโกหกน้อยลงจะมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้นและทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นตามไปด้วย เธอได้นำเสนอบทวิจัยดังกล่าวในที่ประชุมประจำปีของสมาคมจิตวิทยาอเมริกันในเมือง Orlando

เธอพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันจะมีการพูดโกหกประมาณ 11 ครั้งต่อสัปดาห์ บางอย่างก็เป็นเรื่องที่ตั้งใจพูดโกหกจริง บางอย่างก็เป็นเรื่องการพูดโกหกโดยมีเจตนาที่ดี (White lies) ทำไปเพื่อต้องการถนอมความรู้สึกหรือรักษาหน้าเอาไว้

เธอและคณะได้ทำการศึกษาในคนจำนวน 110 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 - 71 ปี แล้วแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยในแต่ละสัปดาห์ทั้ง 2 กลุ่ม จะมาเข้าห้องแล็บเพื่อทดสอบกับเครื่องจับเท็จ (Polygraph test) ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ กลุ่มหนึ่งได้รับการส่งเสริมให้เลิกพูดโกหก (No-lie group) ทั้งในเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก

คณะวิจัยใช้ยุทธวิธีพยายามโกหกให้น้อยลง เช่น หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถาม ในขณะที่อีกกลุ่มไม่มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการโกหก เพียงแต่ให้บอกว่าเขามีการโกหกกี่ครั้งในสัปดาห์นั้นเมื่อมีการทดสอบด้วยเครื่องจับเท็จ

ในแต่ละสัปดาห์ แต่ละกลุ่มจะตอบคำถามเกี่ยวกับสัมพันธภาพที่ดีและคำถามเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจ เช่น ปัญหาเรื่องการง่วงนอนมากหรือมีอาการปวดศีรษะ ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ ทั้ง 2 กลุ่ม มีการโกหกที่น้อยลง อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ไดรับการบอกว่าไม่ให้พูดโกหก มีการพูดโกหกน้อยกว่าอีกกลุ่ม

ในสัปดาห์ที่ 10 กลุ่มที่ได้รับการบอกว่า ไม่ให้พูดโกหก โดยเฉลี่ยมีการพูดโกหกโดยมีเจตนาที่ดี น้อยกว่า 1 ครั้ง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 2 ที่มีการพูดโกหกมากกว่า 3 ครั้ง ในขณะที่อีกกลุ่มมีการพูดโกหกมากกว่า 3 ครั้ง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 2 ที่มีการพูดโกหกเกือบ 6 ครั้ง

ดร. Kelly พบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการโกหกน้อยลงและการมีสุขภาพที่ดีขึ้นในทั้ง 2 กลุ่ม เช่น ระหว่างสัปดาห์ ถ้าสมาชิกของกลุ่มที่ได้รับการบอกว่าไม่ให้พูดโกหก ลดการพูดโกหกโดยมีเจตนาที่ดีลง 3 ครั้ง พวกเขาจะมีอาการกระทบทางสุขภาพจิต (Mental health complaints) ลดลงมากกว่า 4 ครั้ง ส่วนอีกกลุ่ม ถ้าใครลดการพูดโกหกโดยมีเจตนาที่ดีลง 3 ครั้ง พวกเขาจะมีอาการกระทบสุขภาพจิตลดลง 2 ครั้ง

ดร. Kelly อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการพูดโกหกน้อยลงและการมีสุขภาพที่ดีขึ้นว่า เป็นเพราะการพูดความจริงจะไม่ทำร้ายความจริงใจของคนอื่น เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีจากการมีสัมพันธภาพที่ดี

นอกจากนี้ยังมีบทวิจัยโดย ดร. Sally Theran ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของภาควิชาจิตวิทยาแห่ง Wellesley College รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ศึกษาเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงแล้วพบว่า การพูดความจริงหรือความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญต่อความรู้สึก ทำให้ความรู้สึกหดหู่ใจน้อยลงและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) มากขึ้น

เธอกล่าวว่า แม้ว่าความจริงใจจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่มันก็ช่วยทำให้สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนดีขึ้น การพูดความจริงอาจจะรู้สึกเสี่ยง แต่คุณจะรู้สึกถึงความขัดแย้งในใจน้อยลง แต่ในขณะที่เราโกหก ก็จะเกิดผลตรงข้ามต่อความภาคภูมิใจในตัวเองและเกิดความละอายใจ

แหล่งข้อมูล:

  1. Fewer Lies, Better Health? http://www.webmd.com/mental-health/news/20120806/fewer-lies-better-health [2012, August 23].