ลดน้ำหนักลดอาหาร มักอยู่นานอายุยืน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยรณรงค์ตั้งเป้าลดน้ำหนักรวมกันได้ 10 ล้านกิโลกรัม ทั่วประเทศ โดยยึดสูตรในการลดความอ้วนสร้างบุญ 3 อ. 2 ส. กล่าวคือ 1. อ. เน้นไม่อดอาหาร แต่เปลี่ยนเป็นการกินข้าวกล้อง และผักผลไม้ หันมากินเจ หรือมังสวิรัติ ในช่วงเข้าพรรษา 2. อ. ออกกำลังกายเป็นประจำ 3. อ. ทำอารมณ์ให้สงบเน้นสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน หรือนั่งสมาธิ ส่วน 1. ส. คือไม่สูบบุหรี่ 2. ส. คือ ไม่ดื่มสุรา

ขณะเดียวกัน ในซีกโลกฝั่งตรงข้ามกับประเทศไทย ก็มีการรณรงค์ลดน้ำหนักลดความอ้วน แต่มีวัตถุประสงค์ต่างกันตรงที่เพื่อยืดอายุคนให้ยืนยาวขึ้น นั่นคือโครงการ CALERIE (ซึ่งย่อมาจาก Comprehensive Assessment of Long-term Effects of Reducing Intake of Energy) ในสหรัฐอเมริกา

Dr. Marc Hellerstein นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัย California ณ เมืองเบอร์กลี่ย์ ซึ่งศึกษาผลกระทบทางชีววิทยาจากการอดอาหารในอาสาสมัครของโครงการดังกล่าว กล่าวว่า การจำกัดปริมาณอาหาร (Calories) เป็นสิ่งเดียวที่เรารู้จัก ซึ่งนอกจากป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังช่วยยืดอายุขัยให้ยาวนานที่สุดได้

แต่ทีมนักวิจัยนี้ ยังไม่สามารถค้นหา “เส้นทางโมเลกุล” (Molecular pathway) ที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีการลดอาหารทำให้อายุยืนยาวขึ้น ผลประโยชน์ที่แท้จริงของการศึกษาในโครงการนี้ คาดหวังว่าการค้นพบดังกล่าวอาจเลียนแบบกลไกทางเภสัชศาสตร์ (Pharmacologically mimic) เพื่อให้เกิดผลของการจำกัดปริมาณอาหาร

การจำกัดปริมาณอาหารโดย คำนวณจากการใช้น้ำหนักที่สุขภาพดี มากำหนดอัตราการเผาผลาญ ในแต่ละวัน แล้วลดลง 25% ในขณะที่การทดลองกับสัตว์ พบว่ายิ่งลดปริมาณอาหารรุนแรงเท่าใด ก็ยิ่งมีผลต่ออายุเท่านั้น แต่ตัวเลข 25% นี้ เป็นระดับที่มีประสิทธิภาพและยังมีความเป็นจริงที่จะทำให้สำเร็จได้โดยมนุษย์

อาหารที่อาสาสมัครผู้เข้าร่วมโครงการนี้ ไม่ได้มีความแปลกพิสดารอะไร ทุกคนได้รับอาหารที่ปริมาณพอเหมาะ เช่น 2,408 แคลอรีต่อวัน อาหารกลางวันอาจเป็นเพียงสลัดไก่ย่าง และขนมสัก 2 ชิ้น น้ำหนักของผู้จำกัดอาหารจะลดลงทันที ส่วนใหญ่มวลกาย (Body mass) จะลดลงถึง 15% ในปีแรกก่อนที่จะเพิ่มขึ้น และพวกเขาจะเก็บเกี่ยวผลจากสุขภาพดีที่คาดหมายไว้ คอเล็สเตอรอลและความดันโลหิต (Blood pressure) ก็มักจะลดลงฮวบฮาบ

แม้ผลจะแสดงให้เห็นว่าการจำกัดปริมาณอาหาร จะทำให้ขบวนการเสื่อมของร่างกายมนุษย์ช้าลงได้ แต่ก็ยังมีเหตุผลมากมายว่าการลดปริมาณอาหารเช่นนั้นจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปในคนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่? เพราะแทนที่จะลดปริมาณอาหาร คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารแคลอรีต่ำแต่อิ่มแปล้แทน เช่นผักผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูง ในปริมาณมากๆ ซึ่งช่วยบรรเทาความหิวได้ แต่กินอาหารปกติธรรมดา จะต้องวางแผนว่าจะกินอะไรเท่านั้นเอง

ในยุคสมัยคนอเมริกัน บริโภคแคลอรีที่มีล้นเหลือได้ในราคาถูก การลดปริมาณอาหารลง 25% เป็นเรื่องที่คงถูกปฏิเสธอย่างแน่นอน โดยเฉพาะวิถีนิยม ของการดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารเย็นนอกบ้าน กับเพื่อน [หรือเพื่องานสังคม] เป็นเรื่องธรรมดาที่จำเป็นไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครหลายคนที่ยังอยู่ในโครงการ CALERIE ได้กล่าวว่า พวกเขาจะคงการลดปริมาณอาหารต่อไปแม้หลังการทดลองจบลง เพราะสุขภาพเขาดีขึ้น รู้สึกกลับมาเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้น และการได้อายุขัยเพิ่มขึ้นก็ยิ่งดีใหญ่

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.รณรงค์ 3 อ. 2 ส. ชวนคนไทยลดอ้วนสร้างบุญ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000096204&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, August 19].
  2. Eat Less, Live Longer? http://www.time.com/time/specials/packages/article/0,28804,1963392_1963366_1963381,00.html [2012, August 19].