เอาไงดี ! ลดกรด เพิ่มเสี่ยง (ตอนที่ 2)

ลดกรดเพิ่มเสี่ยง

ในสหรัฐอเมริกา มีการประมาณการว่าถ้ามีการใช้ PPI ประจำเช่นนี้ จะทำให้มีความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมเพิ่ม 1.4 เท่า และจะทำให้คนอเมริกันมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 8.4 ต่อปี และจากการที่มีคนอยู่ในช่วงอายุ 75-84 ปี ประมาณ 13.5 ล้านคน หากคนที่อยู่ในเกณฑ์อายุประมาณนี้ร้อยละ 3 มีการใช้ PPI ก็อาจจะทำให้มีคนสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นอีก 10,000 รายต่อปี

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ของการใช้ยา PPI กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นอัมพฤกษ์โดยการศึกษาในคนเดนมาร์กพบว่า การใช้ยา PPI สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งความเสี่ยงแทบจะไม่มีเมื่อใช้ขนาดยาต่ำๆ และจะเริ่มเห็นเมื่อเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการใช้ยา H2RA จะไม่พบว่ามีความเสี่ยงอัมพฤกษ์ที่เพิ่มขึ้น

ยาลดกรดที่อยู่ในตระกูล PPI (Proton Pump Inhibitor) เป็นยาที่ใช้ในการลดกรดด้วยการปิดกั้นเอนไซม์ซึ่งผลิตกรดที่ทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร (Esophagus) กระเพาะอาหาร (Stomach) และ ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) โดยเป็นยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาภาวะที่เกี่ยวกับกรด เช่น

  • แผลที่หลอดอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น และกระเพาะอาหาร (Esophageal duodenal and stomach ulcers)
  • แผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยา NSAIDs (NSAID-associated ulcer)
  • แผลอักเสบ (Ulcers)
  • โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease = GERD)
  • กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome)

[กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนแกสตรินที่เพิ่มขึ้น ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดไฮโดรคลอริกออกมามากเกินไป ซึ่งมีสาเหตุมาจากเนื้องอกตรงบริเวณตับอ่อนที่เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแกสตริน]

จากตัวเลขในปี พ.ศ.2552 พบว่า ยา PPI มียอดขายทั่วโลกรวมประมาณ 13.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถแทนที่ยาลดกรดอย่าง Histamine-2–receptor antagonists (H2RA)

ยาลดกรดที่อยู่ในตระกูล PPI มีหลายชนิด โดยตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • Omeprazole
  • Aspirin and omeprazole
  • Lansoprazole
  • Dexlansoprazole
  • Rabeprazole
  • Pantoprazole
  • Esomeprazole
  • Esomeprazole magnesium/naproxen
  • Omeprazole/sodium bicarbonate

บรรณานุกรม

1. ยากระเพาะ กรดไหลย้อน กับสมองเสื่อม! http://www.thairath.co.th/content/609930#cxrecs_s [2017, March 2].

2. รู้กันแล้วว่ายากระเพาะ กรดไหลย้อน สมองเสื่อม…คราวนี้อัมพฤกษ์. http://www.thairath.co.th/content/851176 [2017, March 2].

3. Proton Pump Inhibitors (PPIs). http://www.medicinenet.com/proton-pump_inhibitors/article.htm [2017, March 2].

4. Reported Side Effects and Complications of Long-term Proton Pump Inhibitor Use. http://www.medscape.com/viewarticle/804146 [2017, March 2].