เอาไงดี ! ลดกรด เพิ่มเสี่ยง (ตอนที่ 1)

ลดกรดเพิ่มเสี่ยง

ในประเทศเยอรมนีรวมทั้งประเทศต่างๆ มีการใช้ยาลดกรดที่อยู่ในตระกูล PPI (Proton Pump Inhibitor) เช่น Omeprazole Pantoprazole Lansoprazole Esomeprazole Rabeprazole เพิ่มมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเยอรมนีมีการพบว่าการใช้ยา PPI ไม่เหมาะสมทั้งขนาดและระยะเวลาที่สมควรถึงร้อยละ 40-60

อย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 มีการจับตามองยา PPI ว่าจะส่งเสริมให้เกิดภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์หรือไม่ ทั้งนี้มาจากความจริงที่ว่า PPI สามารถเข้าสู่สมองได้ค่อนข้างอิสระโดยผ่านผนังกั้นหลอดเลือด และ PPI สามารถลดกรดที่ย่อยทำลายสารพิษอัลไซเมอร์ในตัวเซลล์ไมโครเกลีย และเนื่องจากคนที่เป็นอัลไซเมอร์นั้นจะมีความสามารถในการสร้างกรดที่จะทำลายสารพิษไม่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น PPI อาจทำให้สารพิษสะสมหนักขึ้นไปอีก

ในปี พ.ศ.2556 มีรายงานว่า คนที่ขาดวิตามิน B12 (ซึ่งทำให้เลือดจางและมีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ทางสมองและระบบประสาท) จำนวน 3,120 ราย (ร้อยละ 12) มีการใช้ PPI เป็นเวลา 2 ปี หรือนานกว่า และอีก 1,087 ราย (ร้อยละ 4.2) มีการใช้ยาลดกรดอีกตระกูลที่ชื่อ H2 Receptor Antagonist (H2RA) เช่น Cimetidine Ranitidine เป็นเวลา 2 ปีหรือนานกว่า

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ขาดวิตามิน B12 พบว่า จำนวน 165,092 ราย (ร้อยละ 89.6) ไม่เคยใช้ยาลดกรดใดๆ เลย ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวอาจชี้ว่าการใช้ยาลดกรดเป็นเวลานานกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B12 โดยขนาดของ PPI อยู่ที่ตั้งแต่เม็ดครึ่งต่อวัน

ต่อมา ในปี พ.ศ.2558 มีการติดตามคนเยอรมัน 3,076 ราย ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี หลังจากตามศึกษาไปเป็น 4 ระยะ ทุก 18 เดือน พบว่ามี 431 ราย ที่มีอาการสมองเสื่อม และแม้จะมีการปรับตัวแปรที่มีส่วนในการเกิดสมองเสื่อมต่างๆ ทั้งพันธุกรรม การศึกษา อายุ เพศ โรคอื่นๆ ภาวะซึมเศร้า โรคหัวใจ เบาหวาน อัมพฤกษ์ ก็ยังพบว่าการใช้ยา PPI มีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อมทั้งหมดรวมทั้งอัลไซเมอร์

รายงานในปี พ.ศ.2559 (JAMA Neurology) ได้ตอกย้ำการใช้ยา PPI กับการเกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งวิเคราะห์จากคนเยอรมันเช่นกัน ทั้งนี้ จากการติดตามคนปกติที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมอายุ 75 ปี หรือมากกว่า จำนวน 73,679 ราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2554 โดยที่ติดตามเป็นระยะทุก 12-18 เดือน ปรากฏว่ามีจำนวนถึง 29,510 ราย ที่มีภาวะสมองเสื่อม

และเมื่อติดตามถึงการใช้ยา PPI ประจำอย่างน้อย 18 เดือน โดยมีอย่างน้อย 1 ใน 4 ของช่วงเวลาที่ติดตามเป็นระยะ พบว่ามี 2,950 ราย ตกอยู่ในกลุ่มที่ใช้ยา PPI ประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่ใช้ยา PPI สำหรับผู้ที่ใช้ยา PPI ไม่ติดต่อกันจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งนี้ความเสี่ยงสมองเสื่อมจะน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและโดยที่เสี่ยงสูงสุดในช่วงอายุ 75-79 ปี

นอกจากนี้ การใช้ยา PPI ในคนที่มีภาวะซึมเศร้า และ/หรืออัมพฤกษ์ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อสมองเสื่อมมากขึ้น และคนที่เป็นเบาหวานซึ่งใช้ยาหลายๆ อย่าง 5 ตัว หรือมากกว่า นอกเหนือจากยา PPI ก็เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุแก่กว่า 79 ปี ภาวะซึมเศร้าและอัมพฤกษ์ กลับไม่มีผลมากนักต่อการเกิดสมองเสื่อม เช่นเดียวกับการใช้ PPI โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

บรรณานุกรม

1. ยากระเพาะ กรดไหลย้อน กับสมองเสื่อม! http://www.thairath.co.th/content/609930#cxrecs_s [2017, March 1].

2. รู้กันแล้วว่ายากระเพาะ กรดไหลย้อน สมองเสื่อม…คราวนี้อัมพฤกษ์. http://www.thairath.co.th/content/851176 [2017, March 1].