ร่วมมือกับภูฏาน ด้านห้องปฏิบัติการ (ตอนที่ 3)

นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ถึงความต้องการของภูฏาน ในเรื่องการตรวจเพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานยาและชีววัตถุ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งยาสมุนไพร (ซึ่งประเทศภูฏานมีเป็นจำนวนมากและหลายชนิด) แต่ยังขาดห้องปฏิบัติการ [ทางการแพทย์]และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน จึงต้องส่งตัวอย่างยามาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ[ทางการแพทย์] กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยเป็นระยะๆ

ความร่วมมือพัฒนามาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่กระทรวงสาธารณสุขภูฏานในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์เพื่อการควบคุมโรคต่างๆ อาทิ ตรวจทางจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นต้น ขณะนี้ได้เริ่มจัดวางระบบให้กับประเทศภูฏานแล้ว

ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทุกวันนี้ รองรับด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ในการส่งข้อมูลไปและกลับ (Exchange data) ของผู้ป่วย ตั้งแต่กระบวนการใบขอให้ทดสอบ จนถึงกระบวนการออกผลทดสอบ เรียกว่า “Laboratory information system” (LIS) ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (Hospital information systems : HIS)

ระบบนี้ เอื้ออำนวยให้ โรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ สามารถสั่งให้มีการทดสอบตามที่ขอมา สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน ติดตามประวัติผู้ป่วยและสิ่งส่งตรวจ (Specimen) ช่วยรับประกันคุณภาพของผลทดสอบที่ดีขึ้น รวมทั้งการพิมพ์ผลทดสอบบนใบรายงานผลตรวจ (Patient chart) ที่แพทย์สามารถตรวจสอบได้

ความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยต้องอาศัยบริการทดสอบของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ จึงต้องมีมาตรฐานสากลที่รับรองคุณภาพ (Accreditation) ของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ISO 15189

ตามมาตรฐานดังกล่าว ผลทดสอบทางพยาธิ (Pathological result) ต้องได้รับการตรวจสอบ (Verify) ด้วยนักวิชาชีพที่มีความสามารถ (Competent professional) โดยทั่วไป นักเทคนิคการแพทย์ทำหน้าที่ส่วนใหญ่ของงานภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ แต่ผลทดสอบที่ผิดปรกติ จะถูกส่งไปให้พยาธิแพทย์ (Pathologist) [ช่วยอ่านผล] ในบางกรณี นักเทคนิคการแพทย์/พยาธิแพทย์อาจต้องอธิบายผลทดสอบให้แก่แพทย์เจ้าของไข้หรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยด้วย

หัวหน้าแผนกห้องปฏิบัติการ มักเป็นพยาธิแพทย์ แต่ในบางประเทศ นักเทคนิคการแพทย์ มีสิทธิในการอ่านผลและ หารือผลทดสอบ ภายในวิชาชีพของตนเอง โดยเฉพาะในยุโรป บุคลากรเหล่านี้จบการศึกษาระดับปริญญาโทเป็นอย่างน้อย บางคนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (PhD) และอาจมีคุณสมบัติ ใกล้เคียงกับแพทย์ (MD = Medical doctor)

นอกจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั่วไปแล้ว อาจมีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อ้างอิง (Reference laboratory)สำหรับการทดสอบที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialized test) กับสิ่งส่งตรวจในปริมาณมาก การทดสอบจะประหยัดต้นทุนมาก (Cost effective) หากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จะพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะบางกรณีทดสอบ เพื่อรับงานจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อื่นๆ จากภายนอก ในขณะเดียวกันก็ส่งสิ่งส่งตรวจไปทดสอบข้างนอก (Outsource) ในกรณีที่ตนเองไม่มีความชำนาญ

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขไทยและภูฏาน ร่วมมือพัฒนาห้องแล็บ-ยา-วัคซีน http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000110918&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 14].
  2. Medical laboratory. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_laboratory [2012, September 14].