ร่วมมือกับภูฏาน ด้านห้องปฏิบัติการ (ตอนที่ 1)

นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ หลังจากที่เดินทางไปประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ประเทศภูฏาน พร้อมด้วย นายแพทย์ บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา

ในการประชุมครั้งนี้ คณะผู้เดินทางจากไทย ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศภูฏาน เพื่อหารือความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) ทางวิชาการ เพื่อพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศภูฏาน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Medical laboratory หรือ clinical laboratory) เป็นห้องตรวจวิเคราะห์ที่ทำการทดสอบสิ่งส่งตรวจต่างๆ (Specimen) เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย ที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย (Diagnosis) การบำบัดรักษา (Treatment) และการป้องกัน (Prevention) โรคภัยไข้เจ็บ

ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ แบ่งเป็น 2 ประเภท แต่ละประเภทก็ยังแบ่งการตรวจวิเคราะห์เป็นสาขาย่อย ดังนี้

  1. ประเภทพยาธิกายวิภาค (Anatomic Pathology) ประกอบด้วยสาขาย่อยพยาธิเนื้อเยื่อ (Histopathology) เซลล์วิทยา (Cytopathology) และจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron microscopy)
  2. ประเภทพยาธิทางการแพทย์ (Clinical pathology) ประกอบด้วยสาขาย่อยดังนี้
    • จุลชีววิทยาทางการแพทย์ (Clinical microbiology) ประกอบด้วย 5 สาขาย่อย อันได้แก่แบคทีเรียวิทยา (Bacteriology) ไวรัสวิทยา (Virology) ปรสิตวิทยา (Parasitology) ภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) และพฤกษศาสตร์เห็ดและชื้อรา (Mycology)
    • เคมีวิทยาทางการแพทย์ (Clinical chemistry) ประกอบด้วย การวิเคราะห์ส่วนประกอบเลือด (Blood components) เอ็นไชม์วิทยา (Enzymology) พิษวิทยา (Toxicology) และต่อมไร้ท่อวิทยา (Endocrinology)
    • โลหิตวิทยา (Hematology) ประกอบด้วย การวิเคราะห์อัตโนมัติและด้วยมือของเซลล์เลือด สาขาย่อยได้แก่ การจับเป็นลิ่มเลือด (Coagulation) และคลังเลือด (Blood bank)
    • พันธุศาสตร์ (Genetics) ประกอบด้วยสาขาย่อย การกำเนิดเซลล์ (Cytogenetics)
    • ชีววิทยาการสืบพันธุ์ (Reproduction biology) ประกอบด้วยสาขาย่อย การวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen analysis) คลังตัวอสุจิ (Sperm bank) และเทคโนโลยีช่วยการสืบพันธุ์ (Assisted reproductive technology

ในทางปฏิบัติ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แบ่งเป็นห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล (Hospital laboratory) ซึ่งทำการทดสอบ ผู้ป่วยของโรงพยาบาล กับห้องปฏิบัติการเอกชน (Private laboratory) ซึ่งรับสิ่งส่งตรวจจากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General practitioner : GP) บริษัทประกันสุขภาพ หน่วยงายวิจัยและคลินิกสุขภาพ เพื่อการตรวจวิเคราะห์

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขไทยและภูฏาน ร่วมมือพัฒนาห้องแล็บ-ยา-วัคซีน http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000110918&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 12].
  2. Medical laboratory. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_laboratory [2012, September 12].