รู้เท่าทันโฆษณา สินค้าสุขภาพ (ตอนที่ 1)

ในยุคที่เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ซื้อความสุขได้หลายอย่าง ทำให้คนยุคนี้หาเงินได้เท่าไร ก็เหมือนไม่เคยพอ ผู้บริโภคได้รับอิทธิพลจากสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ อีกทั้งสื่อที่กำลังมาแรงก็คือเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social network) ปัจจุบันการโฆษณาได้หันมานิยมใช้อินเทอร์เน็ตในการกระจายข้อมูลที่รวดเร็วเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ทุกระดับการศึกษาและทุกรสนิยม

รศ. ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ แห่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า โลกออนไลน์เป็นโลกที่อันตราย มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการจำนวนมาก ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หลอกลวง จนแม้กระทั่งมีความตั้งใจให้ข้อมูลเท็จ หรือบอกไม่หมดเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการใช้จ่ายเงินเป็นพันๆล้านดอลลาร์ต่อปีในการบริโภคสินค้าที่หลอกลวงเหล่านี้ นายแพทย์ Stephen Barrett ประธาน Quackwatch Inc. ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อสู้กับการฉ้อฉลโฆษณาเท็จในวงการสุขภาพ ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องการหาทางเยียวยาความไม่สบาย ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องการดูดี แต่ก็ได้ตกเป็นเหยื่อของสินค้าและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องจ่ายด้วยราคาสูง โดยเบี่ยงเบนความสนใจของผู้บริโภคจากบทพิสูจน์ด้วยผลการรักษา รวมถึงอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภค

Joel Aronson หัวหน้าหน่วยงาน หนึ่งในศูนย์การประเมินและวิจัยยา คณะกรรมการอาหารและยา (FDA's Center for Drug Evaluation and Research) สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายการหลอกลวงด้วยโฆษณาชวนเชื่อไว้ว่า ได้แก่ บทความที่ไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพที่ว่าจะพัฒนาสุขภาพให้ดีได้ หรือสามารถทำให้ดูดีได้จริง FDA ดูแลเรื่องความปลอดภัย การผลิต การติดฉลาก และเอกสารกำกับสินค้า FDA ทำงานร่วมกับคณะกรรมการพาณิชย์ (Federal Trade Commission: FTC ) ซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านการโฆษณาที่หลอกลวงนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลทางตรง เช่น อาจเกิดผลตรงข้ามหรือทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือผลทางอ้อม เช่น การโฆษณาสินค้าบางชนิดว่ารักษาโรคเบาหวานได้ ก็อาจทำให้ผู้บริโภคไม่ยอมใช้ (หรือหยุดการฉีด) อินซูลิน

นักการตลาดสำหรับสินค้าที่หลอกลวงจะใช้กลเม็ดที่สลับซับซ้อน โดยที่นักต้มตุ๋นเหล่านี้ก็มักจะใช้ประโยคเก่าๆ มุกเดิมๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจและความเชื่อถือจากผู้บริโภค เรามีหน้าที่ปกป้องตนเองจากการถูกหลอกลวงด้วยการเรียนรู้เทคนิคเหล่านั้น ซึ่งได้แก่

ยาครอบจักรวาล (One Product Does It All) ตัวอย่างเช่น น้ำมันอีมู (Emu) ซึ่งโฆษณาโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก FDA ว่า “...มีประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาโรคไขข้ออักเสบ...การติดเชื้อ...ปัญหาต่อมลูกหมาก...แผลกดทับ...มะเร็ง...โรคหัวใจ...ความดันโลหิตสูง...เบาหวาน...” สามารถกำจัดเนื้อตายได้อย่างสิ้นเชิง...” “...เป็นยาปฏิชีวนะ...บรรเทาความเจ็บปวดได้...” ให้สงสัยไว้เลยว่าไม่มียาหรือสินค้าใดที่จะรักษาทุกโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยได้ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง เช่นมะเร็ง และเบาหวาน และในโรคร้ายแรงบางชนิดก็ไม่มีการรักษา มีเพียงการบำบัดตามอาการ โรคร้ายแรงทั้งหลายมักจะดึงดูดความสนใจได้มาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะสิ้นหวังและต้องการทดลองอะไรก็ได้ที่พอจะทำให้มีความหวัง

คนไข้ที่ให้การว่าได้ผล (Personal Testimonials) “สามีของฉันเป็นอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) และเมื่อปี 1998 เขาเริ่มกินน้ำมันอีมูทุกวัน และเมื่อผ่านไปเพียง 22 วัน เขาก็สามารถตัดหญ้า ทำความสะอาดโรงรถ ถอนวัชพืช เดินออกกำลังกายตอนเช้า แม้จะยังไม่เห็นผลในเรื่องความทรงจำมากนัก แต่ก็เหมือนเขากลับมาเป็นตัวเองมากขึ้น” การใช้ตัวอย่างคนไข้เป็นการยากที่จะพิสูจน์ผลการรักษา เพราะการชื่นชมผลโดยความเห็นส่วนตัวมักถูกเล่าต่อๆ กันไป หรือบางครั้งก็แต่งเรื่องขึ้นทั้งหมด ซึ่งการใช้ตัวอย่างคนไข้นี้นับว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย

แหล่งข้อมูล:

  1. รู้ทันข้อมูลอาหารและโภชนาการบนโลกออนไลน์ – คุณหมอขอบอก http://www.dailynews.co.th/article/1490/14215 [2012, March 13].
  2. How to Spot Health Fraud by Paula Kurtzweil. http://www.fda.gov/Drugs/EmergencyPreparedness/BioterrorismandDrugPreparedness/ucm137284.htm [2012, March 13].