รู้จักกับสเตียรอยด์ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

รู้จักกับสเตียรอยด์

อะนาบอลิคสเตียรอยด์ เป็นสารเคมีที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างบุคลิกลักษณะของเพศชาย เช่น เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ (Muscle mass) การมีหนวดเครา (Facial hair) ทำให้เสียงทุ้ม (Deepened voice) และเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของวัยรุ่นเพศชาย

อะนาบอลิคสเตียรอยด์ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือด กระตุ้นให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อในร่างกายเจริญเติบโตใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้น

นักกีฬาบางคนใช้สเตียรอยด์ชนิดนี้เพื่อการพัฒนาสมรรถภาพของตัวเอง เช่น ทำให้วิ่งได้เร็วขึ้น ตีได้ไกลขึ้น ยกน้ำหนักได้มากขึ้น กระโดดได้สูงขึ้น หรือแม้แต่มีความอึดทนทานมากขึ้น ซึ่งตามกฏหมายในสหรัฐอเมริกาการใช้ยาชนิดนี้ต้องมีใบสั่งแพทย์ด้วย

Androstenedione หรือที่เรียกว่า "Andro" เป็นอะนาบอลิคสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งที่นักกีฬาใช้สร้างมวลกล้ามเนื้อ จากงานวิจัยพบว่า การใช้ Andro ในปริมาณที่มากทุกวันจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้

การใช้อะนาบอลิคสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system) ทำให้ไร้สมรรถภาพทางเพศ (Impotence) ลดจำนวนเชื้ออสุจิ (Sperm) ในลูกอัณฑะ (Testicle) หรือแม้แต่ทำให้ขนาดของลูกอัณฑะเล็กลง

ผู้หญิงที่ใช้สเตียรอยด์อาจมีปัญหาต่อรอบเดือน เพราะสเตียรอยด์จะไปรบกวนการสุกของไข่ (Maturation) และการตกไข่จากรังไข่ ทำให้เกิดผลระยะยาวต่อการเจริญพันธุ์

การใช้อะนาบอลิคสเตียรอยด์ในเด็กเป็นระยะเวลานานสามารถเป็นสาเหตุให้

  • หยุดยั้งการเจริญเติบโต (Stunted growth) ของวัยรุ่น เพราะกระดูกจะโตเร็วและหยุดโตในวัยแรกรุ่น
  • มีเนื้องอกที่ตับ
  • กล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ
  • พฤติกรรมก้าวร้าวและอารมณ์แปรปรวน
  • โรคจิตหวาดระแวง (Paranoia)
  • ไขมันในเลือด (Blood lipid) ผิดปกติ ทำให้เป็นโรคหัวใจ (Heart disease)
  • เป็นสิว (Acne)
  • ผิวแตกลายถาวร (Irreversible stretch marks)
  • มีโอกาสผมร่วงและหัวล้าน
  • ปวดกล้ามเนื้อ

สำหรับเพศหญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มในผลข้างเคียงดังนี้

  • มีหนวดเคราและหัวล้านเหมือนผู้ชาย
  • เสียงทุ้ม
  • คลิตอริส (Clitoris) จะโต
  • หน้าอกเล็กลง (Shrunken breasts)

แหล่งข้อมูล

  1. Steroids. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Steroids [2015, August 16].
  2. Steroids. http://kidshealth.org/parent/emotions/behavior/steroids.html [2015, August 16].