รู้จักกับสเตียรอยด์ (ตอนที่ 3)

รู้จักกับสเตียรอยด์

สเตียรอยด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (Side effects) ได้ ทั้งนี้อาการจะแตกต่างกันไปโดยขึ้นกับปริมาณยา (Dose) ที่ได้รับ หรือการกินยาชนิดอื่นร่วมด้วย ซึ่งอาการส่วนใหญ่ได้แก่

  • อาการปวดท้อง (Tummy pain) ท้องอืด (Indigestion)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งแสดงออกด้วยอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และรู้สึกเหนื่อย
  • เพิ่มระดับของเหลวในร่างกาย ทำให้น้ำหนักเพิ่ม หรือบวมตามข้อเท้าและขา เพราะมีน้ำคั่ง
  • ทำให้อยากอาหารมากกว่าปกติและทำให้อ้วนขึ้น
  • ในกรณีที่ได้รับสเตียรอยด์ในปริมาณที่มากหรือเป็นระยะเวลานาน อาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อและรักษาหายยาก เช่น อักเสบ แดง ปวด
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มาเลย
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง อาจรู้สึกวิตกกังวล (Anxious) กระสับกระส่าย (Restless) หรือนอนไม่หลับ (Problems sleeping)

นอกจากยังมีผลข้างเคียงส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ หากใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ได้แก่

  • ทำให้เกิดต้อกระจก (Cataracts) หรือต้อหิน (Glaucoma) และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ตา
  • เป็นสาเหตุให้เกิดสิว หน้าบวม (Puffiness) มีหนวดเครา (Facial hair) ในผู้หญิง และมีจุดด่างดำบนผิวหนัง หรือ มีกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) ซึ่งกรณีนี้อาจลดลงได้ด้วยการกินสเตียรอยด์ในตอนเช้า หรือกินสลับวันแทนที่จะกินทุกวัน หรืออาจใช้วิธีลดปริมาณยาลง

[Cushing Syndrome คือภาวะที่มีสเตียรอยด์เกิดขึ้นมากผิดปกติในร่างกาย อาการของคุชิ่งซินโดรมคืออ้วนขึ้นแต่อ้วนเฉพาะส่วนบน หน้ามนเป็นพระจันทร์ หน้าแดงแก้มแดง มีไขมันพอกที่เหนือกระดูกไหปลาล้าและหลังจนเหมือนมีหนอกอย่างควาย ผิวหนังสีคล้ำขึ้น ผิวแตกลาย เกิดจ้ำเลือดง่าย ชั้นผิวหนังบางขึ้น กล้ามเนื้อส่วนโคนแขนโคนขาอ่อนแรง ประจำเดือนขาดๆ หายๆ ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มา หรือเป็นหมัน มีปัญหาทางจิตใจด้วยอาการซึมเศร้า สมองเสื่อม อารมณ์แปรปรวน ความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวานง่าย แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย กระดูกพรุน หรือกระดูกหัก]

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle wasting) และหากหยุดสเตียรอยด์อาจทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวไประยะหนึ่ง
  • กระดูกพรุนหรือบาง (Osteoporosis)

เนื่องจากการใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เมื่อหยุดใช้ทันทีอาจมีผลจากการถอนยา (Withdrawal effects) ดังนั้นจึงควรใช้วิธีค่อยๆ ลดยา และควรใช้สเตียรอยด์ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อะนาบอลิคสเตียรอยด์ หรือ สเตียรอยด์สร้างเสริม (Anabolic steroids / anabolic-androgenic) เป็นฮอร์โมนที่เกิดจากการสังเคราะห์ (Synthetic hormones) ซึ่งสามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อและป้องกันการชำรุด (Breakdown) ของกล้ามเนื้อ

แหล่งข้อมูล

  1. Steroids. http://www.macmillan.org.uk/information-and-support/treating/supportive-and-other-treatments/supportive-therapies/steroids.html#tcm:9-19838 [2015, August 15].
  2. Steroids. http://kidshealth.org/parent/emotions/behavior/steroids.html [2015, August 15].