ริโทดรีน (Ritodrine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ริโทดรีน (Ritodrine, ชื่ออื่น เช่น Ritodrine hydrochloride,ชื่อการค้าในต่างประเทศ เช่น Yutopar) คือ ยายับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ทั้งแบบรับประทานและแบบยาฉีด,จัดอยู่ในยากลุ่ม Beta 2-adrenergic agonist ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัว    

   ทั้งนี้ การตัดสินใจที่จะใช้ยาริโทดรีนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยานี้ โดยมีเงื่อนไขบางประการที่ต้องนำมาประกอบกัน เช่น

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติการแพ้ยานี้
  • มีเลือดออกในระหว่างการปวดครรภ์หรือไม่
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ยังต้องรักษาต่อเนื่องเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ปวด ศีรษะไมเกรน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยยาริโทดรีนอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวกำเริบมากขึ้น
  • ทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ทั่วไป การใช้ยาริโทดรีนในลักษณะลดอาการเจ็บครรภ์คลอดบุตรนั้น แพทย์จะใช้เป็นยาฉีดก่อนเพื่อบำบัดอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงจะจ่ายยาตามมาในลักษณะยารับประทาน ขนาดยานี้ที่ใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายก็มีความแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับ การตอบสนองของผู้ป่วยเอง ประการสำคัญต้องควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อป้อง กันการบวมของปอด/ปอดบวมน้ำ (Lung swelling/Pulmonary edema)

ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงอื่นที่สามารถพบเห็นได้หลังการใช้ยาริโทดรีนมักจะเกิดต่อระบบการทำงานของหัวใจ ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักจะทุเลาลงเมื่อหยุดการใช้ยา ซึ่งปกติร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.7 - 2.6 ชั่วโมงในการกำจัดยาริโทดรีนออกจากกระแสเลือด

อนึ่ง: มีเหตุผลบางประการที่ไม่ทราบแน่ชัด ที่ประเทศในแถบทวีปอเมริกาเพิกถอนการใช้ยาริโทดรีน แต่เราจะยังพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในแถบเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย เป็นต้น

ริโทดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ริโทดรีน-01

ยาริโทดรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช่: เช่น  

  • ยับยั้งอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Stop premature labor)

ริโทดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาริโทดรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อเรียบของผนังมดลูกส่ง ผลให้มดลูกเกิดการคลายตัว ลดแรงดันและลดความถี่ของการบีบตัวลง ยานี้ยังส่งผลให้หลอดลมคลายตัวได้อีกด้วย แต่สรรพคุณข้อนี้ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่โดดเด่นต่อการรักษาอาการทางหลอด ลมหรือต่อมดลูกแต่อย่างใด

ริโทดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาริโทดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น     

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ริโทดรีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาริโทดรีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น  

ก. ยาฉีด:  เช่น

  • ผู้ใหญ่:
    • กรณีให้ยาทางหลอดเลือดดำเริ่มต้นที่อัตรา 0.05 มิลลิกรัม/นาที และเพิ่มขนาดการให้ยาอีก 0.05 มิลลิกรัม/นาทีในทุก 10 นาทีจนกระทั่งอาการปวด/เจ็บครรภ์คลอดของผู้ป่วยทุเลาลง, โดยอัตราการให้ยาปกติอยู่ที่ 0.15 -35 มิลลิกรัม/นาที
    • กรณีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อใช้ยาขนาด 10 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 3 - 8 ชั่วโมง เมื่ออาการผู้ ป่วยดีขึ้นและมดลูกลดการบีบตัวลง, แพทย์อาจต้องให้ยาอีกทุกๆ 12 - 48 ชั่วโมงเพื่อคงระดับการรักษาไว้

ข. ยารับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ควรให้ยารับประทานกับผู้ป่วยเป็นเวลา 30 - 60 นาทีก่อนหยุดการใช้ยาฉีดซึ่งปกติ การใช้ยารับประทานอยู่ที่ 10 - 20 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วันโดยรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*อนึ่ง: เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิกยังไม่มีการจัดทำขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาริโทดรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น        

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาริโทดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาริโทดรีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ริโทดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาริโทดรีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ/คออักเสบ  เบื่ออาหาร ปวดกระเพาะอาหาร/ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดหัว วิตกกังวล กระสับกระส่าย มีภาวะตัวสั่น และอารมณ์แปรปรวน
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดอาการตาพร่า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผิวแห้ง  ผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ริโทดรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาริโทดรีน:  เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่บุตร/ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะชัก
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ระวังการใช้ยานี้เพื่อวัตถุประสงค์เป็นยาขยายหลอดลมในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ควบคุมและเฝ้าระวังภาวะปอดบวมน้ำ  ขณะที่ใช้ยานี้และต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อเกิดภาวะปอดบวมน้ำ
  • ในระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาริโทดรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ริโทดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาริโทดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • การใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยา Dolasetron, Droperidol, Methadone อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยา Albuterol/Ventolin, Phenylephrine, อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หรือไม่ก็เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยาเบาหวาน เช่นยา Glimepiride, Metformin สามารถทำให้ประสิทธิภาพการลดน้ำตาลในกระแสเลือดของยารักษาโรคเบาหวานลดน้อยลง กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาริโทดรีน ร่วมกับยา Theophylline ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่อระบบการทำงานของหัวใจมากยิ่งขึ้น เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เกิดความดันโลหิตสูง และเสี่ยงกับการเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะอัมพาต หายใจลำบาก กลืนลำบาก) รวมถึงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาริโทดรีนอย่างไร?

ควรเก็บยาริโทดรีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ริโทดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาริโทดรีน  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Feto Care (เฟโท แคร์) Swiss Pharma Pvt. Ltd.
Gynospa (จายโนสปา) Saimark Biotech Pvt. Ltd.
Miolene (มิโอลีน) Menarini Raunaq Pharma Limited
Pregtaer (เพร็กแทร์) Shreeyam Health Care
Ristore (ริสโทร์) East West Pharma
Ritodine (ริโทดีน) Troikaa Parenterals Pvt. Ltd.
Ritolan (ริโทแลน) Juggat Pharma
Ritopar UR (ริโทพาร์ ยูอาร์) Mercury Laboratories Ltd.
Ritrod (ริทรอด) Neon Laboratories Ltd.
Tocopar (โทโคพาร์) Dewcare Concept
Utdrine (อัทดรีน) Mediwin Pharmaceuticals
Utgard (อัทการ์ด) Ind-Swift Limited

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist  [2022,Aug20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ritodrine  [2022,Aug20]
  3. https://www.drugs.com/cons/ritodrine-oral-intravenous.html  [2022,Aug20]
  4. https://www.medindia.net/doctors/drug_information/ritodrine.htm  [2022,Aug20]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ritodrine?mtype=generic  [2022,Aug20]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/ritodrine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Aug20]
  7. https://www.medindia.net/drug-price/ritodrine.htm  [2022,Aug20]