ริมฝีปากอักเสบ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

3. Angular cheilitis (Angular stomatitis) เป็นการอักเสบที่มุมปากด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน มักพบในผู้สูงอายุ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหาร (ธาตุเหล็ก วิตามินบี โฟเลต) การสัมผัสผื่นแพ้ การติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส (β-hemolytic streptococci) และอื่นๆ

4. Eczematous cheilitis (Lip dermatitis) เป็นความผิดปกติที่ไม่ทราบสาเหตุ มีทั้งสาเหตุภายใน (ที่เกิดจากพันธุกรรม) และสาเหตุภายนอก แต่ส่วนใหญ่เกิดจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โดยมีอาการปากแห้ง แตก (Fissuring) บวมน้ำ (Edema) เป็นสะเก็ด (Crusting) มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตรา 9:1

โดยสาเหตุหลักมักเกิดจากแพ้ผื่นสัมผัสในลิปสติก ลิปบาล์ม และยาสีฟัน ซึ่งบางครั้งก็หาสาเหตุได้ยากแม้จะไม่ได้ใช้ลิปสติกก็ตาม เช่น กรณีจูบปากกับคนที่ใช้ลิปสติก การแพ้โลหะ ไม้ หรือส่วนประกอบอื่นๆ ที่มักเกิดในหมู่นักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า (Woodwind) และ เครื่องเป่าทองเหลือง (Brass instruments) ทำให้บางครั้งเรียกกันว่า โรคริมฝีปากอักเสบ “Clarinetist's cheilitis" หรือ "Flutist's cheilitis”

5. Infectious cheilitis หรือ ริมฝีปากอักเสบจากการติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อรา (Candidal cheilitis) และเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial cheilitis) โรคเริมที่ปาก (Herpes labialis) เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ

6. Granulomatous cheilitis หรือ ริมฝีปากอักเสบแกรนูโลมาตัส เป็นลักษณะที่ปากบวมทำให้ขวางทางไหลเวียนของต่อมน้ำเหลืองช่วงใบหน้าช่องปาก เป็นภาวะบวมเพราะน้ำเหลืองคั่ง (Lymphedema) ทั้งนี้อาจเกิดร่วมกับการอักเสบที่มุมปาก (Angular cheilitis) ด้วย

7. ริมฝีปากอักเสบจากการใช้ยา Drug-related cheilitis ซึ่งมักได้แก่ ยา Etretinate ยา Indinavir ยา Protease inhibitors วิตามินเอ และ ยา Isotretinoin

หรือบางครั้งอาจเกิดจากการช้ยา Atorvastatin ยา Busulphan ยา Clofazimine ยา Clomipramine ยา Cyancobalamin ยา Gold ยา Methyldopa ยา Psoralens ยา Streptomycin ยา Sulfasalazine และยา Tetracycline ทั้งนี้หากมีการหยุดยาอาการดังกล่าวก็จะหายไป

8. Exfoliative cheilitis หรือ ริมฝีปากอักเสบที่หลุดลอกเป็นแผ่น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่บางคนอาจเกิดจากความเครียด วิตกกังวล หดหู่ซึมเศร้า จากรายงานพบว่าร้อยละ 87 ของคนที่เป็นริมฝีปากอักเสบชนิดนี้มีอาการของโรคจิต และร้อยละ 47 มีลักษณะของไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

9. Cheilitis glandularis เป็นการอักเสบของต่อมน้ำลายรอง (Minor salivary glands) ซึ่งมักจะบวมที่ด้านในของริมฝีปากล่าง อาจมีอาการปากเปื่อย ตกสะเก็ด เป็นฝี สาเหตุของการเกิดยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สงสัยว่าอาจเกิดจากการโดนแสงแดด ยาสูบ เป็นโรคซิฟิลิส (Syphilis) หรือเกิดจากความสกปรกของช่องปาก

10. Plasma cell cheilitis เป็นการอักเสบของริมฝีปากชนิดที่ไม่ค่อยพบ เกิดที่เหงือกหรือลิ้น โดยริมฝีปากจะแห้ง เหี่ยว และแตก บางทีอาจเกิดร่วมกับการอักเสบที่มุมปาก (Angular cheilitis) ด้วย