ริมฝีปากอักเสบ (ตอนที่ 1)

พญ.ปราณี เกษมศานติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้อธิบายถึง กรณีริมฝีปากอักเสบให้ฟังว่า

ริมฝีปากมีหน้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การมีส่วนช่วยในการออกเสียงและการพูด การเล่นดนตรี นอกจากนี้ ริมฝีปากยังมีประสาทสัมผัสรับความรู้สึกที่ดีมากและส่งผลต่อความสวยงามของใบหน้า

เมื่อมีการอักเสบบริเวณริมฝีปาก จะทำให้ริมฝีปากแห้ง ลอกเป็นขุย บางครั้งอาจแตกเป็นแผล มีอาการคันหรือแสบร้อน ทำให้รบกวนการกินอาหาร การพูด บางรายมีการอักเสบของมุมปากร่วมด้วย

ส่วนสาเหตุนั้น พญ.ปราณี ได้ชี้แจงว่า เกิดได้ทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย ซึ่งได้แก่

  1. ริมฝีปากอักเสบจากผื่นแพ้สัมผัส จากการแพ้สารที่สัมผัสกับริมฝีปากอย่าง
    • เครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก ซึ่งการแพ้เกิดได้ทั้งจากน้ำหอม สารให้ความชุ่มชื้น สี สารกันเสีย สารกันแดด เมนทอล (Menthol) หรือโลหะผสมในแท่งหรือตลับลิปสติก
    • ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เกิดการแพ้จากสารแต่งรส แต่งกลิ่น เมนทอล
    • ยาทาเล็บ และเล็บ Acrylic ในรายที่มีนิสัยชอบกัดเล็บ
    • วัสดุอุดฟัน ครอบฟัน
    • อาหารบางประเภท เช่น มะม่วง แครอท เปลือกส้ม

    โดยการตรวจยืนยันการวินิจฉัยภาวะนี้ ทำได้โดยการทำ Patch test หรือการตรวจภูมิแพ้ผิวหนังด้วยการปิดแผ่นทดสอบบริเวณหลังหรือต้นแขน ด้วยสารมาตรฐานในชุดทดสอบและเครื่องสำอางของผู้ป่วย

  2. ริมฝีปากอักเสบจากการระคายเคือง เช่น จากการเม้ม เลียริมฝีปากบ่อยๆ เนื่องจากในน้ำลายมีเอนไซม์หลายชนิดที่ทำให้ระคายเคืองได้
  3. ริมฝีปากอักเสบจากภูมิแพ้ผิวหนัง ในผู้ป่วยที่มีผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ซึ่งมีอาการคันบริเวณข้อพับเรื้อรัง และผิวแห้ง อาจมีริมฝีปากแห้งลอกร่วมด้วยได้

สำหรับการดูแลรักษา พญ.ปราณี กล่าวว่า ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเลีย เม้ม หรือแกะลอกริมฝีปาก และหลีกเลี่ยงสารสัมผัสที่แพ้ เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน รวมถึงทาสารให้ความชุ่มชื้นกลุ่มขี้ผึ้งวาสลีนบ่อยๆ

บางรายอาจต้องใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงได้ หากใช้ยาไม่ถูกต้อง

แหล่งข้อมูล

1. ทำอย่างไร! เมื่อริมฝีปากแห้งลอก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000068167 [2014, June 25].