ราบีพราโซล (Rabeprazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาราบีพราโซล (Rabeprazole) เป็นยายับยั้งการหลั่งกรดประเภท Proton pump inhibitors พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Eisai สหรัฐอเมริกาและถูกวางจำหน่ายในหลากหลายมากมายชื่อการค้าทั่วโลกเช่น ยา Aciphex เป็นต้น ประโยชน์ทางคลินิกได้นำยานี้มาบำบัดอาการของกรดไหลย้อน รักษาภาวะ Zollinger-Ellison syndrome (โรคเนื้องอกบางชนิดของตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดสูงมากขึ้นจากกระเพาะอาหาร เป็นโรคพบได้น้อยมากๆ) ลดอาการแสบร้อนกลางอก

รูปแบบของผลิตภัณฑ์ของยาราบีพราโซลจะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 52% และถูกกำจัดออกจากร่างกายภายในประมาณ 1 - 1.5 ชั่วโมงโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาราบีพราโซลสามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อีกทั้งยังใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการโรคกระเพาะอาหารที่มีการติดเชื้อ H.pylori (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร) อีกด้วย ในทางคลินิกการใช้ยาราบีพราโซลรักษาอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดไหลย้อนนั้นจะไม่ทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อาการจะดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

การใช้ยาราบีพราโซลเป็นเวลานานๆอย่างขาดความระมัดระวังจะทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะ/โรคกระดูกพรุนและกระดูกหักได้ง่าย ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้มีผลต่อระดับแคลเซียมในกระแสเลือดให้ต่ำลง ปกติแพทย์จะใช้ยาราบีพราโซลในการรักษาประมาณ 4 - 8 สัปดาห์เท่านั้น หรือใช้ยานี้เพียงประมาณ 7 วันสำหรับร่วมรักษาการติดเชื้อ H.pylori ในกระเพาะอาหาร ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร แต่หากเป็นสูตรตำรับที่มีลักษณะออกฤทธิ์เนิ่นนานให้รับประทานยานี้ก่อนมื้ออาหารประมาณ 30 นาที

ทั้งนี้มีข้อจำกัดของผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ยาราบีพราโซลอาทิเช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาราบีพราโซล
  • เป็นผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง หรือมีภาวะ/โรคกระดูกพรุน กระดูกบาง รวมถึงผู้ที่มีภาวะเกลือแมกนีเซียมในเลือดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยานี้รักษา
  • ผู้ป่วยอยู่ในภาวะท้องเสียหรือถ่ายเหลวเป็นน้ำด้วยตัวยาราบีพราโซลเองก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการถ่ายท้อง/ท้องเสียได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ยาราบีพราโซลเป็นเวลานานกว่า 3 ปีอาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ได้อีกด้วย

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาราบีพราโซลอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลและมีวางจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดใหญ่ๆทั่วไป

ราบีพราโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ราบีพราโซล

ยาราบีพราโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก/แผลเปบติค (Gastric and duodenal ulcer, Peptic ulcer)
  • ใช้เป็นยาป้องกันการเกิดแผลในลำไส้เล็ก (Duodenal ulcer prophylaxis)
  • รักษาโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
  • ใช้เป็นยาร่วมรักษาการติดเชื้อ Helicobactor pylori (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร) ในระบบทางเดินอาหาร
  • รักษาภาวะ Zollinger-Ellison syndrome

ราบีพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาราบีพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Hydrogen/potassium adenosine triphosphatase ซึ่งอยู่ภายในเซลล์สร้างกรดของกระเพาะอา หารที่มีชื่อว่า Gastric parietal cells ทำให้การแลกเปลี่ยนไฮโดรเจนไอออน (Hydrogen ion) กับ โพแทสเซียมไอออนของเซลล์นี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมจนทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลงในที่สุด

ราบีพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาราบีพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/แคปซูล

ราบีพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาราบีพราโซลมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น

ก. สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก/แผลเปบติค:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้งหลังอาหารเช้าเป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับเด็กในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. สำหรับรักษาอาการโรคกรดไหลย้อน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้งหลังอาหารเช้าเป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุ 1 - 11 ปีและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 15 กิโลกรัม: รับประทานยา 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง หลังอาหารเช้า ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาอาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 12 สัปดาห์
  • เด็กอายุ 1 - 11 ปีและมีน้ำหนักตัว 15 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยา 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับเด็กวัยนี้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาราบีพราโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาราบีพราโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาราบีพราโซลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาราบีพราโซลตรงเวลา

ราบีพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

หลังการใช้ยาราบีพราโซลอาจพบผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง วิงเวียน ท้องเสียเป็นน้ำและอาจมีมีเลือดปน เกิดภาวะท้องผูก มีไข้ ปวดในช่องท้อง มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (Clostridium difficile colitis) อาจมีภาวะเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำเมื่อใช้ยาราบีพราโซลนานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

มีข้อควรระวังการใช้ราบีพราโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาราบีพราโซลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีระดับเกลือแมกนีเซียมใน เลือดต่ำ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หยุดการใช้ยาราบีพราโซลทันทีหากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้น แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยา บาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีเกิดอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวันเช่น ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหลังใช้ยานี้ให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจอาการโรคและแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานของยานี้ให้เหมาะสมกับอาการป่วยที่เป็นปัจจุบัน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาราบีพราโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ราบีพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาราบีพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาราบีพราโซลร่วมกับวิตามินรวมที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็กอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของวิตามินรวมด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาราบีพราโซลร่วมกับยา Clopidogrel อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ Clopidogrel ด้อยลง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาราบีพราโซลร่วมกับยา Methotrexate จะทำให้เพิ่มระดับของยา Methotrexate ในกระแสเลือดจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Methotrexate ตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาราบีพราโซลร่วมกับยาต้านไวรัสเช่น Atazanavir จะทำให้การดูดซึมของ Atazanavir ลดลงและส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคเอดส์ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาราบีพราโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาราบีพราโซลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ราบีพราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาราบีพราโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aciphex Sprinkle (อะซิเฟค สปริงเคิล) Eisai
Pariet (พาริเอ็ท) Eisai

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Proton-pump_inhibitor [2016,Jan23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Rabeprazole [2016,Jan23]
  3. http://www.drugs.com/mtm/rabeprazole.html [2016,Jan23]
  4. http://www.ishnonline.com/downloads/Aciphex_Sprinkle_Drug_Review.pdf [2016,Jan23]
  5. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01129 [2016,Jan23]