ราก่อภูมิแพ้ (ตอนที่ 2)

ราก่อภูมิแพ้

เชื้อรามีอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เชื้อราที่ก่อให้เกิดปัญหาเป็นเชื้อราที่เกิดภายในบ้านหรือตัวอาคาร (Indoor) เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในที่อุ่น ชื้น แฉะ สถานที่ที่สามารถพบเชื้อราได้มาก เช่น ร้านขายของโบราณ เรือนกระจกสำหรับเพาะปลูกพืช (Greenhouses) ห้องเซาน่า ฟาร์ม โรงสี บริเวณก่อสร้าง ร้านดอกไม้ เป็นต้น

เราไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้ทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือ การควบคุมความชื้น เชื้อรามีหลายชนิด แต่มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ การแพ้เชื้อราชนิดหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องแพ้เชื้อราชนิดอื่นด้วย เชื้อราที่ส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ เชื้อ Alternaria เชื้อ Aspergillus เชื้อ Cladosporium และเชื้อ Penicillium

หลังจากที่ร่างกายสัมผัสกับเชื้อราแล้ว ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีที่จดจำได้ถึงลักษณะของผู้บุกรุก (Foreign invader) ดังนั้นเมื่อมีการสัมผัสกับเชื้อราอีกในภายหลัง ระบบภูมิต้านทานจึงทำปฏิกริยาด้วยการปล่อยสารบางชนิด เช่น ฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคัน คัดจมูก จาม และอาการแพ้เชื้อราต่างๆ

อาการภูมิแพ้จากเชื้อราจะมีลักษณะอาการเดียวกันกับอาการภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ กล่าวคือ

  • จาม (Sneezing)
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล (Runny or stuffy nose)
  • ไอ และ มีเสมหะ (Postnasal drip)
  • เคืองตา คันจมูกและคอ
  • น้ำตาคลอ (Watery eyes)

อาการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน มีตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงขั้นรุนแรง จะเป็นเมื่ออยู่ในที่มีอากาศชื้นหรืออยู่ในที่ที่มีเชื้อรา ทั้งนี้ ภูมิแพ้จากเชื้อราสามารถทำให้บางคนเป็นโรคหอบหืด (Asthma) ได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภูมิแพ้จากเชื้อรา ได้แก่

  • มีประวัติคนในครอบครัว – หากคนในครอบครัวมีอาการแพ้และเป็นหอบหืด โอกาสที่จะเกิดภูมิแพ้จากเชื้อราก็มากขึ้น
  • การทำงานที่ต้องสัมผัสกับเชื้อรา – เช่น การทำการเกษตร ฟาร์มโคนม ป่าไม้ งานช่างไม้ ผลิตไวน์ และ ช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
  • การอยู่ในบ้านที่มีความชื้นสูง มีการระบายอากาศไม่ดี– อาจทำให้เกิดเชื้อราขึ้นตามที่ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องใต้ดิน ห้องน้ำ ห้องครัว หลังกรอบรูป พรม เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากภูมิแพ้จากเชื้อรา ซึ่งทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • อาการหอบหืดจากเชื้อรา (Mold-induced asthma)
  • ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา (Allergic fungal sinusitis)
  • ปอดอักเสบจากเชื้อรา (Allergic bronchopulmonary aspergillosis)
  • ปอดอักเสบจากภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity pneumonitis)

แหล่งข้อมูล

1. Mold allergy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mold-allergy/basics/definition/con-20025806 [2015, December 4].

2. Moldhttp://www.cdc.gov/mold/faqs.htm[2015, December 4].