ระวังโรค บริโภคเห็ดพิษ (ตอนที่ 1)

นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเยอว่า ระยะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้มีเห็ดป่าออกมาจำหน่ายตามท้องตลาดชุมชน โดยแต่ละปีจะมีชาวบ้านนิยมรับประทานเห็ดทั้งที่ซื้อตามตลาดและหาจากป่า ทำให้พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และพบผู้เสียชีวิตทุกปี

เห็ดที่มักนํามาบริโภคหรือจําหน่ายมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดมีพิษ เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดไค เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เป็นต้น ส่วนเห็ดที่มีพิษ เช่น เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่านตีนตํ่า เห็ดเกล็ดดาว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน เก็บเห็ดที่มีลักษณะรูปร่างสมบูรณ์เท่านั้น

รวมถึงเวลาเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้นๆ โดยนํากระดาษหรือใบตองรองในตะกร้า อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ เพราะมีเห็ดบางชนิดที่สีบนหมวกอาจถูกชะล้างให้จางลงไป นอกจากนี้ ควรปรุงอาหารทันที ไม่ควรเก็บไว้นาน ที่สำคัญห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด

ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี หากกินเห็ดพิษจะแสดงอาการหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด และมักเกิดภายใน 3 ชั่วโมง อาการมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณด้วย เช่น ปวดเกร็งในท้อง อาการคลื่นไส้และอาเจียนเมื่อกินร่วมกับแอลกอฮอล์ เห็ดบางชนิดทำให้มีอาการประสาทหลอน เพ้อคลุ้มคลั่ง ซึม ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

หากพบผู้ได้รับพิษจากการกินเห็ด เช่น คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง เวียนศีรษะ การช่วยเหลือเบื้องต้นที่สําคัญที่สุดคือทําให้อาเจียนออกมาให้หมดโดยการ ล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว แล้วรีบไปพบแพทย์หรือนําส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที

เนื่องจากไม่มีข้อวินิจฉัยว่าเห็ดที่เป็นสีหรือไม่เป็นสีหรือเห็ดชนิดไหนจะเป็นเห็ดพิษ ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาให้ถ้วนถี่เพื่อความปลอดภัย วิธีสังเกตลักษณะของเห็ดที่มีพิษ

  1. ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า
  2. ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐาน กับที่วงแหวนเห็นชัดเจน
  3. สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาว ถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง
  4. ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่
  5. ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง
  6. สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใสๆ รูปไข่กว้าง

การนำมาทดสอบพิษด้วยการต้มรวมกับข้าวสาร ช้อนเงิน หรือหัวหอม ไม่เป็นวิธีที่ถูกต้องเนื่องจากวิธีดังกล่าวไม่สามารถทดสอบกับเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดพิษสกุล Amanita ส่วนการการนำเห็ดไปต้มให้สุกก่อนรับประทาน ก็มิได้มีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะว่าเห็ดบางชนิด เช่นเห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก (Amanita verna และ Amanita virosa ) ซึ่งมีสารพิษในกลุ่ม cyclopeptide จะทนความร้อนได้ดี ดังนั้นการนำเห็ดไปต้มก็ไม่สามารถทำให้สารพิษนี้สลายไปได้

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนอันตรายจากการบริโภคเห็ดพิษ - http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000073924&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2013, June 29].
  2. Lincoff.G.H. and P.M. Michell 1977. Toxic and Hallucinogenic Mushroom Poisoning, a Hhandbook for physicians and Mushroom Hunter. Van Nostrand & Reinhlod Co., New York [2013, June 29].
  3. สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. เห็ดพิษ กรุงเทพฯ : บริษัทนิวธรรมดาการพิมพ์(ประเทศไทย) จำกัด, 2543 [2013, June 29].
  4. สมิง เก่าเจริญและคณะ. หลักการวินิจฉัยและรักษาภาวะเป็นพิษ. พิมพ์ครั้งที่ 1: ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, 2541 [2013, June 29].