ระวังเรื่องเศร้า ถ้าดื่มเหล้าแก้หนาว

นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ลำปาง กล่าวว่า ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นและอุณหภูมิลดต่ำลง ขอแจ้งเตือน ประชาชนที่มีความเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์แก้หนาวได้นั้น เป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก ได้มีทีมงานวิจัย ทั้งเผยแพร่ความรู้ว่า ในสภาพอากาศที่มีความหนาวเย็นนั้น ร่างกายจะมีการปรับการไหลเวียนของโลหิตตามธรรมชาติ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นไม่สามารถช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายอุ่นขึ้น แต่กลับจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายในร่างกาย และหากรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic beverage) เป็นเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยสารเอธานอล (Ethanol) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เบียร์ ไวน์ และเหล้า สามารถดื่มได้ในประเทศส่วนใหญ่ของโลก และมากกว่า 100 ประเทศมีกฎหมายควบคุมการผลิต การจำหน่าย และการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายดังกล่าวจะกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อและดื่มได้ ซึ่งอยู่ระหว่าง 16 ปีถึง 25 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและประเภทของเครื่องดื่ม แต่ประเทศส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 18 ปี

การผลิตและบริโภคแอลกอฮอล์เกิดขึ้นในวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของโลก จากสังคมเล็กๆ ของการล่าสัตว์เป็นอาหาร จนถึงสังคมใหญ่โตเป็นประเทศชาติ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักเป็นส่วนสำคัญของงานสังคม ในหลายๆประเทศกล่าวคือ การดื่มแอลกอฮอล์ มีบทบาทสำคัญในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

แอลกอฮอล์เป็นยาที่มีผลต่อจิตประสาท (Psychoactive) ซึ่งก่อให้เกิดผลซึมเศร้า (Depressant) การมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูง ถือว่ามึนเมาแล้วในแง่กฎหมาย เพราะแอลกอลฮอล์ จะลดระดับความใส่ใจ และทำให้ปฏิกิริยาตอบโต้ช้าลง แอลกอฮอล์สามารถเป็นสารเสพติด (Addictive) ได้และการเสพติดที่ยาวนาน อาจกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism)

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระดับต่ำ (อาทิ เบียร์ และไวน์) ผลิตจากวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลหรือพืชที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ มาหมัก และเติมยีสต์ลงไปเพื่อให้ยีสต์กินน้ำตาล [และแป้ง] ที่อยู่ในวัตถุดิบ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ ส่วนเครื่องดื่มที่มีแอกอฮอล์ระดับสูง (อาทิ เหล้า) ผลิตจากกระบวนการเดียวกัน แต่ตามด้วยการกลั่นให้บริสุทธิ์ (Distillation)

ในภูมิอากาศหนาว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีพลังสูง อาทิ วอดก้า มักเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย เพราะความคิดที่ว่าจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย เนื่องจากแอลกอฮอล์ดูดซึมได้เร็วจึงให้พลังงานกับร่างกายได้รวดเร็ว และทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดที่เลี้ยงส่วนผิวหนัง แขน ขา (Peripherovascular dilation) จึงทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นใน ช่วงแรกดื่ม ซึ่งเป็นการอบอุ่นเพียงชั่วคราว ระยะเวลาสั้นๆ และเฉพาะแขน และขา โดยไม่ได้ทำให้ภายในร่างกายอบอุ่นขึ้น ดังนั้นเมื่อเมาจนหมดสติหลับไปในช่วงอากาศหนาว จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดการหนาวจนถึงเสียชีวิตได้

ความคิดเรื่องดื่มเหล้าแก้หนาว จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เพราะที่จริงแล้ว ความอบอุ่นของร่างกายเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายความร้อนจากภายในลำตัวของร่างกายไปยังแขนขา แล้วระบายสู่สิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความคิด [เอาเอง] ดังกล่าวเป็นการปลอบใจมากกว่าเป็นเรื่องของอุณหภูมิในร่างกาย

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือนประชาชนดื่มสุราไม่ช่วยคลายหนาว http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157254&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 25].
  2. Alcohol beverage. http://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholic_beverage [2011, December 25].