ระวังภัย ไอโอดีนไม่เพียงพอ (ตอนที่ 4)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวอีกว่า สธ. มีนโยบายจะเน้นฝากครรภ์ในกลุ่มสตรีมีครรภ์ซึ่งมีปีละ 8 แสนคน ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์หรือายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 เพื่อจะได้หาทางแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และจัดให้สตรีมีครรภ์ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน เหล็กและโฟเลต ทุกคนตลอดการตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด 6 เดือน ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งของรัฐ (ซึ่งครอบคลุมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศด้วย) ได้ให้บริการดังกล่าวฟรี

ไอโอดีน (Iodine) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทารกในครรภ์ (Fetus) และทารกหลังคลอด ตลอดจนการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid hormone) จึงมีคุณค่าทางโภชนการที่สำคัญของสุขภาพที่เหมาะสมในแต่ละวัย การมีไอโอดีนที่เพียงพอ ระหว่างการตั้งครรภ์จึงเป็นปัจจัยหลัก [ที่ขาดมิได้] ต่อพัฒนาการดังกล่าว

ระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อการพัฒนาต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์ยังไม่สมบูรณ์ ทารกในครรภ์ต้องอาศัยไอโอดีนเข้าสู่ร่างกาย (Intake) เพียงอย่างเดียวจากเลือดของมารดา การมีไอโอดีนเข้าสู่ร่างกายที่เพียงพอหลังเด็กเกิด ก็มีความสำคัญเช่นกันสำหรับการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย (Physical) และประสาท (Neurological)

นมจากเต้า (Breast milk) มีส่วนประกอบของไอโอดีน แม้ว่าความเข้มข้น (Concentration) อาจแตกต่างไปตามระดับของไอโอดีนในร่างกายของแม่ (Maternal iodine) ในการพัฒนาที่เหมาะสมจนถึงช่วงหย่านม (Weaning) ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว จะขึ้นอยู่กับความเพียงพอของไอโอดีนในแม่ ทารกที่ไม่ได้รับอาหารอื่นที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ จะมีความเสี่ยงสูงของการมีไอโอดีนไม่เพียงพอ แม้จะอาศัยอยู่ในประเทศที่มีโครงการเติมไอโอดีนในเกลือ ก็ตาม

หลายประเทศทั่วโลก แนะนำให้เสริมไอโอดีนช่วงตั้งครรภ์ ช่วงเวลาให้นม (Lactation) และช่วงเด็กในปฐมวัย สำหรับหญิงที่อยู่ในประเทศที่มีไอโอดีนน้อย กระจัดกระจาย หรือการเติมไอโอดีนในเกลือไปไม่ทั่วถึง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) แนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธ์ (Reproductive age) ทุกคนต้องได้รับไอโอดีนสู่ร่างกายวันละ 150 ไมโครกรัม และตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงช่วงเวลาให้นม แม่ต้องได้รับไอโอดีนสู่ร่างกายวันละ 250 ไมโครกรัม

WHO ยังแนะนำให้ประเทศต่างๆ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breastfeeding) ตลอด 24 เดือนแรกหลังคลอด พร้อมด้วยอาหารเสริมไอโอดีน สำหรับทารกที่มีอายุระหว่าง 7 – 24 เดือน เนื่องจากทารกเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการมีไอโอดีนไม่เพียงพอ มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

ผลการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2553 พบว่าสาธารณชนเริ่มตื่นตัวเรื่องความสำคัญของไอโอดีนในช่วงตั้งครรภ์ และช่วงเวลาให้นม ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของสมาคมไทรอยด์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Thyroid Association) ที่ตอกย้ำความสำคัญของการติดตามสถานะของหญิงในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวิจัยชิ้นเดียวกัน ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารเสริมไอโอดีนที่มีการวางจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นที่มีไอโอดีนมากเพียงพอ ผลการวิจัย แนะนำว่าการให้ไอโอดีนเสริมในปริมาณสูง (High dose) ระหว่างการตั้งครรภ์ อาจทำให้ไทรอยด์ทำงานผิดปรกติ (Dysfunction) ในหญิงบางคนได้

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.xเดินหน้าพัฒนาเด็กไทยโตสมวัย เร่งขจัดโรคขาดสารไอโอดีน หลังพบไอคิวยังต่ำกว่าเกณฑ์ http://www.naewna.com/local/23321 [2012, September 29].
  2. Iodine. http://ods.od.nih.gov/factsheets/Iodine-HealthProfessional/ [2012, September 29].