ระวังภัย ไอโอดีนไม่เพียงพอ (ตอนที่ 3)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวอีกว่า สธ. ตั้งเป้าจะให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่สมวัยถึงร้อยละ 90 และให้มีไอคิวเกิน 100 จุด ภายในปี พ.ศ. 2559 การดำเนินการใน 4 ปีนี้ จะเน้นหนักเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพในประชากร 5 กลุ่ม ได้แก่ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เด็กทารก เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน รวมปีละ 14 ล้านคน

สธ. ยังมีนโยบายเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มในพื้นที่ทุรกันดาร ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ สธ. จะรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องไอโอดีนที่มีผลต่อพัฒนาการสมวัยและสติปัญญา

สาหร่ายทะเล (Seaweed) เป็นหนึ่งในจำนวนแหล่งอาหารที่ดีที่สุดของไอโอดีน แต่ส่วนประกอบของไอโอดีนในสาหร่ายทะเลมีความแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับสายพันธ์ (Species) ส่วนอาหารเสริมของไอโอดีนที่ประกอบด้วยสาหร่ายทะเลนั้น มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด

แหล่งอื่นๆ ที่ดีของไอโอดีนได้แก่ อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์นม (Dairy products) [เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะการใช้ไอโอดีนเป็นอาหารเสริมในการป้อนปศุสัตว์] ไข่ไก่ และธัญญพืช ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวอเมริกัน [และเริ่มแพร่หลายในหมู่ชาวไทย] ไอโอดีนยังพบมากในน้ำนมแม่ ที่เหมาะสำหรับทารก

ผลไม้และผักก็มีไอโอดีน แต่ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของไอโอดีนในดิน ปุ๋ยที่ใช้ และระบบชลประทาน ไอโอดีนมีความเข้มข้น (Concentration) ในอาหารจากพืช ตั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จนถึง 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (คิดน้ำหนักในสภาพแห้ง) ความแตกต่างนี้มีผลกระทบต่อส่วนประกอบของไอโอดีนในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื่องจากส่วนประกอบของไอโอดีนในอาหารที่สัตว์กินเข้าไป

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเกลือ ได้เติมไอโอดีนในเกลือ (Iodized salt) เพื่อใช้รับประทานตั้งแต่ปี คริสตทศวรรษ 1920 แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับใช้ แต่คณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) ในสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ต่างก็แนะนำให้เติมไอโอดีนในเกลือ

ไอโอดีนที่เติมในเกลือในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยปริมาณ 45 ไมโครกรัม ต่อเกลือ 1 กรัม (หรือระหว่าง 1/8 ถึง 1/4 ช้อนโต๊ะ) อย่างไรตาม เกลือส่วนใหญ่ที่ชาวอเมริกันบริโภคเข้าสู่ร่างกาย (Intake) ได้มาจากอาหารที่แปรรูป (Processed food) ซึ่งผู้ผลิตต้องสำแดงในรายชื่อวัตถุดิบที่ใช้ (Ingredients) บนฉลาก

วิตามินรวม (Multivitamin) และเกลือแร่เสริม (Mineral supplement) ประกอบด้วยไอโอดีนในรูปของไอโอไดด์ (Iodide) [ซึ่งเป็นก๊าซที่อยู่ในเกลือ] หรือโซเดียมไอโอไดด์ (Sodium iodide) งานวิจัยเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง พบว่า ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซึมไอโอไดด์ได้ถึง 96.4% [ส่วนที่เหลือจะถูกขับออก (Excreted) โดยไต ทางปัสสาวะ]

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.xเดินหน้าพัฒนาเด็กไทยโตสมวัย เร่งขจัดโรคขาดสารไอโอดีน หลังพบไอคิวยังต่ำกว่าเกณฑ์ http://www.naewna.com/local/23321 [2012, September 28].
  2. Iodine. http://ods.od.nih.gov/factsheets/Iodine-HealthProfessional/ [2012, September 28].