ระวังภัย ไอโอดีนไม่เพียงพอ (ตอนที่ 1)

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก โดยเน้นการป้องกันเด็กปัญญาอ่อน เร่งพัฒนาระดับสติปัญญาการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กทารกให้โรงพยาบาลเจาะเลือดเมื่ออายุครบ 48 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์เพื่อได้รับการรักษาให้ทันท่วงที

นโยบายดังกล่าว ให้นำไปปฏิบัติในโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน นอกจากนี้ สธ. ยังผลักดันนโยบาย “กิน กอด เล่น เล่า” ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ โดยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการสมวัย พ่อ-แม่กอดลูกและเล่านิทานให้ลูกฟัง รวมทั้งให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ

ไอโอดีน (Iodine) เป็นธาตุเคมี ร่างกายต้องการไอโอดีน แต่ไม่สามารถผลิตเองได้ จะต้องได้มาจากอาหาร แต่อาหารส่วนใหญ่มีไอโอดีนน้อยมาก เว้นแต่มีการเติมไอโอดีนระหว่างแปรรูป (Processing) อาทิ ในเกลือ ไอโอดีนส่วนมากในโลกจะพบในมหาสมุทร ซึ่งเป็นที่อยู่ของชีวิตในทะเล (Sea life) โดยเฉพาะสาหร่ายทะเล (Seaweed)

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) จำเป็นต้องได้ไอโอดีนในการผลิตฮอร์โมน หากไทรอย์ไม่มีไอโอดีนเพียงพอ (Iodine deficiency) ระบบตอบสนอง (Feedback system) ในร่างกายจะทำให้ไทรอยด์ต้องทำงานหนักขึ้น ยังผลให้ต่อมไทรอยด์ขยายตัวอย่างเรื้อรัง (Goiter) และจะปรากฏในรูปของคอ ที่บวมขึ้น [หรือที่เรียกกันว่า “คอพอก”]

ผลที่ตามมาของการที่ร่างกายไม่มีไอโอดีนเพียงพอ เป็นปัญหาร้ายแรง เพราะฮอร์โมนไทรอยด์ในระดับต่ำ เป็นสาเหตุที่ทำให้สตรีหยุดการตกไข่ (Ovulate) ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ในกรณีที่ร้ายแรง การไม่มีไอโอดีนเพียงพอ สามารถนำไปสู่ภาวะขาดแคลนไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Cretinism) ซึ่งเป็นความผิดปรกติที่ขัดขวางการเจริญเติบโต (Stunted) ของร่างกาย (Physical) จนมีรูปร่างแคระผิดสัดส่วน และสติปัญญา (Mental) ที่บกพร่องจนโง่เขลาเบาปัญญา

การไม่มีไอโอดีนเพียงพอเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก เพราะสามารถนำไปสู่โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) ของไทรอยด์ นักวิจัยบางคนเชื่อว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง (Cancer) ไทรอยด์ ต่อมลูกหมาก (Prostate) เต้านม (Breast) มดลูก (Endometrium) และรังไข่ (Ovary)

การไม่มีไอโอดีนเพียงพอในสตรีมีครรภ์ เป็นปัญหาร้ายแรงของทั้งแม่และทารก เพราะอาจนำไปสู่ความดันโลหิตสูง (High blood pressure) ระหว่างการตั้งครรภ์สำหรับแม่ และสติปัญญาอ่อน (Mental retardation) สำหรับทารก ไอโอดีนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลาง/สมอง (Central nervous system : CNS) ของมนุษย์

ในตอนต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 การไม่มีไอโอดีนเพียงพอ เป็นปัญหาที่พบเห็นทั่วไปในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่การเติมไอโอดีนแก่เกลือได้ทำให้สาธารณสุขของประเทศดีขึ้น นักวิจัยประมาณการว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชาการในสหรัฐอเมริกา ใช้เกลือที่มีไอโอดีนเป็นประจำ

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.xเดินหน้าพัฒนาเด็กไทยโตสมวัย เร่งขจัดโรคขาดสารไอโอดีน หลังพบไอคิวยังต่ำกว่าเกณฑ์ http://www.naewna.com/local/23321 [2012, September 26].
  2. Iodine. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/natural/35.html [2012, September 25].