ระวังน้ำขวดเจ้าปัญหา (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ระวังน้ำขวดเจ้าปัญหา-4

      

      ชนิดของขวดพลาสติก (ต่อ)

  • ขวดทำจากพอลิโพรไพลีน (Polypropylene = PP) คุณสมบัติโดยทั่วไปแล้วจะยอมให้ไอน้ำซึมผ่านได้น้อย แต่จะยอมให้ก๊าซซึมผ่านได้ดี ทนความเป็นกรดได้ปานกลาง ทนความร้อนได้ดี (104 °C) เหมาะแก่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องผ่านการอบไอน้ำ (Steam sterilization) แต่จะไม่ทนความเย็น จึงไม่เหมาะแก่การแช่เย็น โดยทั่วไปใช้ในการบรรจุยา น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม เครื่องสำอาง แชมพู
  • ขวดทำจากพอลิสไตรีน (Polystyrene = PS) ป้องกันก๊าซและไอน้ำได้ไม่ดีนัก ทนความเป็นกรดได้ปานกลาง ไม่ทนความร้อนและความเย็น เหมาะสำหรับใช้ที่อุณหภูมิปกติ ไม่ทนต่อแรงกระแทก โดยทั่วไปนิยมใช้บรรจุ ยาเม็ด วิตามิน เครื่องเทศ

      และถ้าพลิกดูใต้ขวด จะเห็นสัญลักษณ์ลูกศร 3 ตัว วนเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีหมายเลขกำกับ ซึ่งเกิดจากทั่วโลกมีการรณรงค์ให้นำวัสดุต่างๆ นำกลับมาหมุนเวียน หรือรีไซเคิล (Recycle) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงพลาสติกที่จะต้องแยกตามชนิดของพลาสติก

      โดย The ASTM International Resin Identification Coding System (RIC) ได้ตั้งสัญญลักษณ์มาตราฐานสำหรับบ่งบอกถึงชนิดของพลาสติกเพื่อสะดวกแก่การนำไปรีไซเคิลไว้ดังนี้

  • “1” คือ พอลิเอทีลีนเทอร์ฟะทาเลต (Polyethylene terephthalate / PET / PETE) พบสัญลักษณ์นี้ได้ในขวดบรรจุน้ำดื่ม แก้ว น้ำมันพืช เป็นต้น
  • “2” คือ พอลิเอทีลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High-density polyethylene = HDPE) พบได้ในขวดนม ขวดน้ำ แก้ว บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
  • “3” คือ พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride = PVC) กลุ่มนี้ใช้ทำท่อน้ำประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร แผ่นพลาสติกสำหรับทำประตู หน้าต่าง พื้น และหนังเทียม เป็นต้น
  • “4” คือ พอลิเอทีลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low-density polyethylene = LDPE) ใช้ทำถุงพลาสติก หลอด ฟิล์มห่ออาหาร และห่อสิ่งของ เป็นต้น
  • “5” คือ พอลิโพรไพลีน (Polypropylene = PP) ใช้ทำชิ้นส่วนในรถยนต์ ภาชนะบรรจุอาหาร ถัง ตะกร้า กระบอกน้ำ ขวดบรรจุยา เป็นต้น
  • “6” คือ พอลิสไตรีน (Polystyrene = PS) ใช้ทำภาชนะบรรจุของใช้ หรือโฟมใส่อาหาร ถาดอาหาร รวมถึงช้อนส้อมพลาสติก เป็นต้น
  • “7” หรือ “Other” ไม่มีการระบุชื่อจำเพาะ ไม่ใช่พลาสติกชนิดใดที่จัดอยู่ใน 6 กลุ่มข้างต้น เช่น อะคริลิก (Acrylic) ไนล่อน (Nylon) พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) และ พอลีแลคติคแอซิด (Polylactic acid = PLA).

แหล่งข้อมูล:

  1. Plastic bottle. https://en.wikipedia.org/wiki/Plastic_bottle [2018, April 14].
  2. Resin identification code. https://en.wikipedia.org/wiki/Resin_identification_code [2018, April 14].