ระวังน้ำขวดเจ้าปัญหา (ตอนที่ 2)

ระวังน้ำขวดเจ้าปัญหา-2

      

      เราสามารถพบชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกได้ในน้ำประปาทั่วโลก ในอาหารทะเล เกลือทะเล เครื่องสำอาง ยาสีฟัน หรือแม้แต่ในอากาศที่เราหายใจ ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้เมื่อมีการสะสมถึงระดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องทำการวิจัยกันต่อไป

      ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2560 ได้มีการนำตัวอย่างน้ำประปามาจากหลายประเทศเพื่อการวิเคราะห์และพบว่า ร้อยละ 83 ของตัวอย่างนั้นมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก

      ปัจจุบัน พลาสติกมีอยู่มากมายทั่วโลก มีทั้งที่เป็นประโยชน์และที่ควรหลีกเลี่ยง โดยนักวิจัยได้พยายามพัฒนาพลาสติกให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

      พลาสติกทำจากพอลิเมอร์ (Polymers) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่และมีมวลโมเลกุลมาก ประกอบด้วยหน่วยซ้ำกัน (Repeating molecules) ที่เรียกว่า มอนอเมอร์ (Monomers)

      ตัวอย่างของพลาสติกที่รู้จักกันดี ได้แก่ พอลิเอทิลีน (Polyethylene) พอลิโพรไพลีน (Polypropylene = PP) และ พอลิสไตรีน (Polystyrene) โดยมีการผสมสารเคมีเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพของพลาสติก เช่น ทำให้มีความยืนหยุ่น (Flexibility) และทนทาน (Durability)

      ตัวอย่างของสารเคมีที่ผสมในพลาสติก และคิดว่าน่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้หากมีการสะสมถึงระดับหนึ่ง เช่น

  • PCBs (Polychlorinated biphenyls) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ (Synthetic chemicals) ที่อาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ (Probable carcinogen)
  • PAHs (Polycyclic aromatic hydrocarbons) เป็นสารเคมีที่ทนนาน (Persistant chemicals) ไม่ย่อยง่ายเหมือน PCBs อาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งและผลกระทบอื่นได้
  • สารหน่วงการติดไฟ (Flame retardants) เป็นสารเคมีที่ใช้เป็นตัวขัดขวางการทำงานของฮอร์โมน (Hormone disrupters) และเป็นยาฆ่าแมลง (Pesticides) ซึ่งมีผลต่อร่างกาย

      สำหรับพอลิโพรไพลีน (Polypropylene = PP) ที่พบในการวิจัยนั้น เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร มีความหนาแน่นค่อนข้างต่ำ (ความหนาแน่น 0.90-0.91) มีจุดหลอมเหลว 160-170 °C

      ในปัจจับัน ทั่วโลกมีการใช้พอลิโพรไพลีนปีละประมาณ 45 ล้านเมตริกตัน (Metric tons) และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ความต้องการจะเพิ่มเป็น 62 ล้านเมตริกตัน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 30 เป็นการนำพอลิโพรไพลีนไปใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ส่วนอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ร้อยละ 13 อุตสาหกรรมไฟฟ้าร้อยละ 13 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ในครัวเรือนร้อยละ 10 อุตสาหกรรมรถร้อยละ 10 และอุตสาหกรรมก่อสร้างร้อยละ 5

แหล่งข้อมูล:

  1. Microplastics in the Environment and in the Human Body. https://owlcation.com/stem/Microplastics-in-the-Human-Body-and-Potential-Health-Effects [2018, April 12].
  2. Polypropylene — toxicity, side effects, diseases and environmental impacts. https://chemicals.news/2017-11-30-polypropylene-toxicity-side-effects-diseases-and-environmental-impacts.html [2018, April 12].