ระวังทีเด็ด เห็ดป่าหน้าฝน (ตอนที่ 4 และตอนสุดท้าย)

นายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเห็ดป่าบางชนิด สามารถทำให้สุกแล้วกินได้ แต่ก็มีเห็ดป่าบางชนิดที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งหากรับประทานเข้าไปแล้ว จะทำให้ระบบการทำงานของตับและไตล้มเหลวจนเสียชีวิต แม้จะทำให้สุกด้วยความร้อนแล้ว ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้

ในกรณีที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตัวเสริมให้พิษออกฤทธิ์แรงขึ้น ดังนั้น ประชาชนต้องสังเกตรูปร่างเห็ดให้ดี หลีกเลี่ยงรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก อย่างไรก็ตาม หากประชาชนรับประทานเห็ดเข้าไปแล้วมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง หน้ามืด หรืออาเจียน ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ในทุกๆ ปี จะมีผู้ที่ตายด้วยพิษจากเห็ด (Mushroom poisoning) อย่างช่วยไม่ได้ [ทั้งๆ ที่มีการเตือนจากกระทรวงสาธารณสุขครั้งแล้วครั้งเล่า] เนื่องจากพิษ (Toxin) ของเห็ดมีหลายชนิด แต่ก็มีเพียงเห็ดน้อยชนิดเท่านั้นที่มีอันตรายถึงชีวิต เมื่อเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนของเห็ดทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก

ในขณะเดียวกัน พิษของอาการที่แสดงออกอาจคล้ายคลึงกัน อาทิ อาเจียน (Vomit) อุจจาระร่วง/ท้องเสีย (Diarrhea) และช่องท้องเป็นตะคริว (Abdominal cramp) อาการเหล่านี้ อาจไม่เป็นประโยชน์ [โดยตรงในการวินิจฉัย] แต่ก็เป็นดัชนีชี้แนะ (Indicator) ว่า อาการพิษได้เกิดขึ้นแล้ว

โดยทั่วไป มีการจัดพิษเห็ดไว้ 8 กลุ่ม แต่รวมเป็นประเภทที่ขึ้นอยู่กับผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ 4 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

  • พิษเห็ดกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 เป็นสาเหตุของความเสียหายต่อเซลล์ในระดับร้ายแรง (Extensive cellular damage) ตามด้วยอาการทางกายภาพซึ่งปรากฏให้เห็น หลังจากความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารถรักษาได้อีกต่อไป
  • พิษเห็ดกลุ่มที่ 4 และ 5 มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral) ที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย (Autonomic nervous system : ANS) ซึ่งมีอาการที่ปรากฏขึ้น ไม่นานหลังจากบริโภค หรือเมื่อสารเอ็นไซม์ (Substrate) ที่เหมาะสมเข้าสู่ระบบ ANS
  • พิษเห็ดกลุ่มที่ 6 และ 7 มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system : CNS) และสาเหตุทางจิตของการหลอนประสาท (Hallucination) อาการปรากฎให้เห็น ไม่นานหลังจากบริโภค
  • พิษเห็ดกลุ่มที่ 8 เป็นกลุ่มที่ยังแยกแยะไม่ได้ (Unidentified) ซึ่งเป็นสาเหตุของท้องไส้ปั่นป่วน (Gastrointestinal discomfort) ทันทีที่บริโภคเข้าสู่ร่างกาย

เนื่องจากการเก็บเห็ดมารับประทาน เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาหลายพันปีแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนได้ล้มป่วยและตายเมื่อบริโภคเห็ดพิษเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ การเรียนรู้เกี่ยวกับพิษจากเห็ด ทำให้เกิดการใช้เห็ดพิษในการวางแผนฆาตกรรม

กรณีอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิ Claudius โดยมเหสีองค์ที่ 4 ของพระองค์เอง ที่ชื่อ Agrippina ในสมัยอาณาจักรโรมัน ใน ค.ศ. 41 ใช้พิษสะสมของเห็ดในการลอบปลงพระชนม์ ส่วนกรณีในศตวรรษที่ 20 โดยชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Girard ใช้วิธีเดียวกันในการฆ่าเหยื่อเพื่อเอาผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่ในที่สุด เขาก็ถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต ในปี ค.ศ. 1918

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ. กาฬสินธุ์เตือนบริโภคเห็ดป่าหน้าฝน เจอเห็ดพิษเสียงถึงตาย http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000108177&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 11].
  2. Poisonous Mushrooms. http://mdc.mo.gov/discover-nature/outdoor-recreation/how/mushrooms/poisonous-mushrooms [2012, September 11].