ระวังทีเด็ด เห็ดป่าหน้าฝน (ตอนที่ 3)

นายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ระยะหน้าฝนนี้เป็นช่วงที่เห็ดตามธรรมชาติออกดอกมาก โดยมีประชาชนนิยมนำมาบริโภคจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนประชาชนที่รับประทานเห็ดป่า หากไม่ทราบแหล่งที่มา ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจ ห้ามนำมารับประทานอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเห็ดป่าที่มีสีขาวนวล ลักษณะคล้ายสมอง คล้ายไข่เป็ด หรือคล้ายไข่ไก่ นอกจากนี้ เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก มีปลอกหุ้มโคน มีโคนอวบใหญ่ มีปุ่มปม หรือเห็ดที่มีลักษณะคล้ายอานม้า [ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง]

พิษจากเห็ด (Mushroom poisoning) หมายถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการย่อยดูดซึม (Ingestion) สารพิษ (Toxic substances) ที่มีอยู่ในเห็ด อาการเหล่านี้มีตั้งแต่ท้องไส้ปั่นป่วน (Gastrointestinal discomfort) เล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรงจนถึงแก่ความตาย

พิษจากเห็ดมักเป็นผลจากการย่อยดูดซึมของเห็ดป่า หลังจากที่แยกแยะผิดคิดว่า เห็ดพิษ (Toxic mushroom) ดังกล่าวเป็นตระกูลเห็ดที่กินได้ (Edible species) เหตุผลส่วนใหญ่ของการแยกแยะผิดพลาด เกิดจาการมีสีที่คล้ายคลึงกันระหว่างตระกูลเห็ดพิษกับตระกูลเห็ดที่กินได้ แม้ผู้เก็บเห็ดป่าที่มีประสบการณ์มาก บางครั้งก็อาจกินเห็ดพิษเข้าไปเพราะความประมาท ทั้งๆ ที่รับรู้ถึงความเสี่ยงดังกล่าว

เพื่อป้องกันพิษจากเห็ด ผู้เก็บเห็ดป่า จำเป็นต้องคุ้นเคยกับเห็ดที่เขาเก็บ และรูปลักษณ์ของตระกูลเห็ดพิษ (Toxic species) นอกจากนี้ เห็ดกินได้ หรือไม่ได้นั้น อาจขึ้นอยู่กับวิธีการปรุงอาหาร และเขาต้องรู้ว่า เห็ดบางตระกูลอาจกินได้หรือเป็นพิษขึ้นอยู่กับสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่ค้นพบเห็ดดังกล่าวอีกด้วย

ในบรรดาตระกูลเห็ดนับพันๆ ชนิดในโลก มีเพียง 32 ชนิดเท่านั้นที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในตระกูลอะมันนิตา ฟัลลอยดิส (Amanita phalloides) และอีก 52 ชนิดได้รับการค้นพบว่า มีพิษร้ายแรง (Significant toxins) แต่เห็ดพิษส่วนใหญ่ ไม่มีอันตรายถึงชีวิต

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีทดสอบที่เร็วและง่ายในการแยกแยะเห็ดพิษ รวมทั้งการปอกส่วนหัวหรือหมวกออก (Peeling the cap) การทดสอบด้วยช้อนที่ทำด้วยเงิน การตรวจสอบความเสียหายจากแมลง หรือวิธีการชาวบ้านอื่นๆ การหลีกเลี่ยงเห็ดพิษ สามารถทำได้โดย ดังนี้

  • แยกแยะเห็ดทุกๆ ชนิดที่เก็บได้ แล้วเลือกรับประทานเฉพาะเห็ดป่าที่แน่ใจ หากไม่แน่ใจ ให้ทิ้งไปเลย
  • หลีกเลี่ยงเห็ดที่ดูคล้ายอะมันนิตา รูปร่างเหมือนร่ม (Parasol-shaped) ที่มีเหงือกปลา (Gill) สีขาว หรือเห็ดที่มีสีน้ำตาลเพียงเล็กน้อย และหัวหรือหมวกคล้ายฟองน้ำ (Sponge-like cap)
  • บางคนอาจเป็นภูมิแพ้ต่อเห็ดชนิดที่ปลอดภัยที่สุด ดังนั้น เมื่อรับประทานเห็ดป่าใหม่เป็นครั้งแรก ควรรับประทานในปริมาณน้อย แล้วคอยดูผลลัพธ์ 24 ชั่วโมงให้หลัง ก่อนรับประทานเพิ่มปริมาณ
  • เช่นเดียวกับอาหารอื่นๆ เห็ดที่เริ่มเน่าเสีย นำมาซึ่งการเจ็บป่วย ควรรับประทานเฉพาะเห็ดสดที่เนื้อแน่นเท่านั้น
  • ไม่ควรรับประทานเห็ดป่าดิบๆ ในปริมาณมาก เนื่องจากยากต่อการย่อยดูดซึมของร่างกาย
  • แหล่งข้อมูล:

    1. สสจ. กาฬสินธุ์เตือนบริโภคเห็ดป่าหน้าฝน เจอเห็ดพิษเสียงถึงตาย http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000108177&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 10].
    2. Mushroom poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Poison_Mushroom [2012, September 10].
    3. Poisonous Mushrooms. http://mdc.mo.gov/discover-nature/outdoor-recreation/how/mushrooms/poisonous-mushrooms [2012, September 10].