ระวัง ! กินสารปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 5)

สารฟอกขาว หรือ สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodiumhydrosulfite) หรือผงซักมุ้ง เป็นสารเคมีที่เป็นพิษ มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวที่มีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ (Sulfurous odor) ละลายในน้ำร้อนและในสารละลายกรด (Acid solutions)

สารฟอกขาวใช้เป็นตัวรีดิวซ์ (Reducing agent) ในสารละลายน้ำ มีการใช้สารฟอกขาวกันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ย้อมสี ฟอกสี เยื่อกระดาษ ฝ้าย หนังสัตว์ อาหารและเครื่องดื่ม โพลิเมอร์ ภาพถ่าย นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวทำความสะอาด บำบัดน้ำ (Water treatment) ทำให้แก๊สบริสุทธิ์ (Gas purification)

แต่พบว่ามีการนำมาใช้ฟอกขาวในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความขาว สดใส น่ารับประทานและดูใหม่อยู่เสมอ เพราะมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อนจากกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อาหารที่มักตรวจพบสารฟอกขาว ได้แก่ ถั่วงอก ขิงฝอย ยอดมะพร้าว กระท้อน หน่อไม้ดอง น้ำตาลมะพร้าว ทุเรียนกวน ขนมจีน น้ำตาลทราย เป็นต้น

หากสัมผัสสารฟอกขาว จะทำให้ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง และถ้าบริโภคจะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่ไปสัมผัส เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ทำให้แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องร่วง และหากแพ้สารนี้อย่างรุนแรงจะทำให้ถ่ายเป็นเลือด ชัก ช็อก หมดสติ หลอดลมหดตัว หายใจไม่ออก ทำให้หอบหืด ไตวาย และเสียชีวิตในที่สุด

วิธีที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารฟอกขาว ทำได้โดยการเลือกซื้ออาหารที่มีสีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวจนผิดปกติ เช่น ทุเรียนกวนที่มีสีคล้ำตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ก่อนบริโภคอาหารที่สงสัยว่ามีสารฟอกขาว ควรทำให้สุกก่อน เพราะสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ จะถูกทำลายด้วยความร้อน ซึ่งปลอดภัยกว่าการนำมารับประทานแบบสดๆ โดยเฉพาะอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ดอกไม้จีน เก๋ากี้ พุทราจีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักพบว่ามีการใส่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ดังนั้นผู้บริโภคควรรู้จักวิธีการลดความเสี่ยงแบบง่าย ๆ ด้วยการล้างน้ำหรือลวกในน้ำเดือด โดยให้น้ำสะอาดไหลผ่านหรือลวกในน้ำเดือดประมาณ 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหารทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึงกว่าร้อยละ 90

สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้อบแห้งที่สามารถบริโภคได้เลย ไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีจัด เนื่องจากในกระบวนการผลิตผลไม้อบแห้งต้องผ่านความร้อนสูง จึงมีผลทำให้สีสันและเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์เสียไปด้วย หากพบผลิตภัณฑ์มีสีสันสวยงามมากผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมาก

แหล่งข้อมูล:

  1. Sodium dithionite. http://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_dithionite [2014, March 17].
  2. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์...อันตรายที่มาพร้อมอาหาร http://www.oryor.com [2014, March 17].