ระวัง ! กินสารปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 4)

สืบเนื่องจากการสุ่มตรวจประเมินอาหารปลอดภัยของกรมอนามัยในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในตลาดที่จังหวัดนครสวรรค์ 5 แห่ง ที่พบการใช้สารฟอร์มาลิน หรือน้ำยาฉีดศพ น้ำยาดองศพ มาใช้กับอาหารสด เพื่อไม่ให้เน่าเสียง่าย เรามาทำความรู้จักกับสารอีก 4 ตัว ซึ่งถือเป็นสารปนเปื้อนที่น่ากลัวเช่นกัน ได้แก่ สารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว สารกันรา และสารเร่งเนื้อแดง

สารบอแรกซ์ (Borax / sodium borate / sodium tetraborate / disodium tetraborate) เป็นสารประกอบโบรอน (Boron compound) แร่ (Mineral) และเกลือของกรดโบริค (Salt of boric acid) คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อของ น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ หรือ ผงเนื้อนิ่ม

สารบอแรกซ์ มีลักษณะเป็นผลึกสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น ละลายในน้ำได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วสารบอแรกซ์เป็นสารที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น ทำผงซักฟอก เคลือบเงา ทำแก้วเพื่อให้ทนต่อความร้อน หรือใช้เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง รวมทั้งใช้ในเครื่องสำอางเพื่อเป็นสารหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น

ผงบอแรกซ์สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและผิวหนัง การกินสารบอแรกซ์อาจทำให้ปวดกระเพาะและลำไส้ รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย มีผลต่อระบบหลอดเลือดและสมอง เช่น ทำให้ปวดศีรษะ เซื่องซึม (Lethargy) ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีฝ่ามือ ฝ่าเท้า สะโพก ถุงอัณฑะ (Scrotum) บวมแดง มีผื่นแดงที่ผิวหนังและลอกเป็นแผ่น หมดสติ หายใจลำบาก และไตวาย

สารบอแรกซ์เป็นวัตถุที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามใช้ในอาหารมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยให้ถือว่า อาหารที่มีส่วนผสมของสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่นั้น เป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารและผู้ประกอบการบางรายได้ลักลอบนำสารบอแรกซ์มาผสมลงในอาหารเพื่อให้อาหารมีความเหนียว หยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน และไม่บูดเสียง่าย และแม่ค้าหรือพ่อค้ายังนำสารบอแรกซ์มาใช้ทาหรือชุบเนื้อหมู เนื้อวัวเพื่อทำให้ดูสดยิ่งขึ้น ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่พบว่ามีการเจือปนของสารบอแรกซ์ ได้แก่ เนื้อบด หมูบด ลูกชิ้นปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ และในขนมหวานต่าง ๆ เช่น ทับทิมกรอบ รวมมิตร วุ้น รวมถึงผลไม้

นอกจากนี้แล้ว สารบอแรกซ์ยังถูกนำไปใช้ในการปลอมปนในผงชูรสที่ตักแบ่งขายอีกด้วย

สำหรับผู้บริโภคมีข้อสังเกตในการเลือกซื้ออาหารที่ปราศจากสารบอแรกซ์ โดยหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่ผิดปกติจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมูที่แข็ง กดแล้วเด้ง หรือมีผิวเป็นเงาเคลือบ และไม่ควรซื้อหมูบดที่สำเร็จรูป ควรซื้อเป็นชิ้นแล้วนำมาล้างให้สะอาด โดยนำมาบดหรือสับเอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะกรอบเด้ง หรืออยู่ได้นานผิดปกติ

แหล่งข้อมูล:

  1. Borax. http://en.wikipedia.org/wiki/Borax [2014, March 16].