ระวัง ! กินสารปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 3)

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการตลาดสด ตลาดนัด ให้เข้มงวดความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายฟอร์มาลินในตลาด เพื่อร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ควรจะสอบย้อนไปจนถึงแหล่งค้าส่งและแหล่งปลูกว่า นำสารฟอร์มาลินมาใส่ในขั้นตอนไหน โดยต้องทำงานแบบประสานกันทุกหน่วย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการเกษตร เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และสิ่งสำคัญคือ การสื่อสารความรู้ อันตราย และสถานการณ์การปนเปื้อนให้แก่ผู้ค้าขาย รวมถึงประชาชนผู้บริโภค เพื่อสร้างความตระหนัก ความรับผิดชอบ และความร่วมมือในการเฝ้าระวังสารปนเปื้อน

หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลดีไฮด์ในปริมาณมาก จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล และยังพบว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งด้วย

คนส่วนใหญ่จะป่วยเพราะการสูดไอระเหย ในระดับที่ต่ำจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก และอาจทำให้ปวดศีรษะ แต่ถ้าเป็นระดับสูงอาจทำให้ หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) และทำให้ปอดมีน้ำ

นอกจากนี้ยังมีผลต่อผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง (Dermatitis) ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เป็นสีขาวได้หากสัมผัสโดยตรง กรณีเข้าตาอาจทำลายกระจกตาและทำให้ตาบอดได้

มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ระบุว่าฟอร์มาลีนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหอบหืด (Asthma) ในเด็ก การเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ (Myeloid leukemia) และยังมีการศึกษาในผู้หญิงฟินแลนด์ที่ทำงานในห้องแล็ปอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ว่า มีส่วนในการทำให้เกิดการแท้งได้ นอกจากนี้จากการศึกษาในผู้หญิงจีนที่ทำงานสัมผัสกับฟอร์มาลีนพบว่าร้อยละ 70 มีประจำเดือนที่ผิดปกติ แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาว่าฟอร์มาลีนมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ชาย

ในสภาพของที่อยู่อาศัย เราอาจได้รับฟอร์มาลีนได้หลายทาง เช่น การปล่อยก๊าซจากผลิตภัณฑ์ไม้อย่างไม้อัด (Plywood) และปาร์ติเกิลบอร์ด (Particle board) จากสีทาบ้าน (Paints) น้ำมันเคลือบเงา (Varnishes) และบุหรี่

นพ.พรเทพ กล่าวในตอนท้ายถึงวิธีสังเกตว่าผักที่ซื้อมามีฟอร์มาลินหรือไม่นั้น ควรดมที่ใบหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นฉุนแสบจมูกก็ไม่ควรซื้อ หรือสังเกตดูผักที่วางขายว่าสด ใบงามเกินความเป็นจริง ไม่มีรูพรุนจากการกัดของแมลงเลย ตั้งขายไว้เป็นวัน ๆ ยังไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อ เพราะอาจมีฟอร์มาลินและสารพิษฆ่าแมลงซึ่งยังไม่หมดฤทธิ์สะสมอยู่ด้วย

ในกรณีที่ซื้อมาแล้วยังไม่แน่ใจว่าอาจมีฟอร์มาลินติดมาอีก ก็ควรนำผักมาล้างน้ำไหล 5-10 นาที หรือแช่น้ำนิ่งราว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่า ฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมด

ส่วนการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ตลอดจนปลา ต้องสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลินวางขายในตลาดสด ถ้าถูกแดดถูกลมนาน ๆ เนื้อแดง ๆ นั้นจะเหี่ยว หรือถ้ามีกลิ่นฉุน ๆ แปลก ๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรซื้อมาบริโภค และในการบริโภคทุกครั้ง ต้องทำอาหารทุกชนิดให้สุกด้วยความร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำลายฟอร์มาลินได้

แหล่งข้อมูล:

  1. เจอน้ำยาฉีดศพปนผัก-เนื้อสัตว์เกลื่อนตลาดสด สธ.แนะวิธีสังเกตhttp://www.dailynews.co.th/Content/regional/218300/เจอน้ำยาฉีดศพปนผัก-เนื้อสัตว์เกลื่อนตลาดสด+สธ.แนะวิธีสังเกต [2014, March 13].
  2. Formaldehyde. http://en.wikipedia.org/wiki/Formaldehyde [2014, March 13].
  3. What is formalin ? http://www.wisegeek.org/what-is-formalin.htm [2014, March 13].