ระวัง ! กินสารปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 1)

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ได้รับรายงานผลการสุ่มตรวจประเมินอาหารปลอดภัยของกรมอนามัยในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในตลาดที่จังหวัดนครสวรรค์ 5 แห่ง ในอำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก อำเภอชุมแสง ประกอบด้วยตลาดสด 2 แห่ง และตลาดนัด 3 แห่ง โดยเก็บอาหารตรวจทั้งหมด 275 ตัวอย่าง

ผลการตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว แต่ที่น่าตกใจคือ พบการใช้สารฟอร์มาลิน หรือน้ำยาฉีดศพ น้ำยาดองศพ มาใช้กับอาหารสด เพื่อไม่ให้เน่าเสียง่าย โดยจาก 5 ตลาด ตรวจพบ 102 ตัวอย่าง เฉลี่ยร้อยละ 25 บางแห่งเช่นในตลาดสดขนาดใหญ่ในเมืองพบถึงร้อยละ 59

อาหารที่ตรวจพบได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก ปลาหมึกกรอบ ขิงหั่นฝอย กระชายหั่นฝอย เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด ถั่วฝักยาว สไบนาง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก เป็นการใช้สารฟอร์มาลินผิดวัตถุประสงค์ และห้ามใช้ในอาหารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากสารชนิดนี้มีอันตรายสูง เป็นสารก่อมะเร็ง สารชนิดนี้เป็นอันตรายทั้งคนใช้ แม่ค้า และผู้บริโภค จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวดจริงจัง และให้สาวถึงแหล่งต้นตอให้ได้ เพื่อลงโทษให้เด็ดขาด

สำหรับสารฟอร์มาลิน หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ มีลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน แสบ ระเหยง่าย หากได้รับในปริมาณที่สูงหรือมีความเข้มข้นมาก สารชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตายได้

โดยฟอร์มาลดีไฮด์ มีพิษต่อระบบต่าง ๆ เกือบทั่วทั้งร่างกาย โดยมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หากได้รับรูปของไอระเหย แม้จะปริมาณต่ำ ๆ ถ้าถูกตาจะระคายเคืองตามาก ทำให้เป็นแผล ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้น แม่ค้าพ่อค้าที่จำหน่ายอาหารที่แช่ฟอร์มาลิน มีสิทธิ์ที่จะสูดดมไอระเหยของฟอร์มาลินที่ออกจากน้ำที่แช่ได้ตลอดเวลา และสูดเข้าโดยตรงด้วย เป็นอันตรายต่อตัวเอง

ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ฟอร์มาลีน (Formalin) เป็นสารกันเสียที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า นอกจากนั้นแล้ว สารฟอร์มาลดีไฮด์พบมากในที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นสารที่อยู่ในกาวและสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง รวมไปถึงสีทาบ้านบางชนิด

ฟอร์มาลีน มีส่วนผสมของฟอร์มาลดีไฮด์ร้อยละ 40 โดยปริมาตร (Volume) หรือร้อยละ 37 โดยมวล (Mass) โดยถือว่าเป็นสารฟอร์มาลีนเต็มร้อย (100% Formalin)

ในทางมิญชวิทยาหรือวิทยาเนื้อเยื่อ (Histology) ฟอร์มาลีนใช้ในการรักษาตัวอย่างของเนื้อเยื่อ (Tissue samples) สารนี้จะช่วยยึดโมเลกุลของโปรตีนเข้าด้วยกัน เป็นการเพิ่มสภาพความแข็ง (Rigidity) ของเนื้อเยื่อเพื่อให้ง่ายต่อการสไลด์เป็นชิ้นบางๆ และนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งโดยทั่วไปจะแช่สารฟอร์มาลีนเจือจางที่ร้อยละ 10 (10% Solution) ซึ่งเท่ากับมีสารฟอร์มาลดีไฮด์อยู่ร้อยละ 4

แหล่งข้อมูล:

  1. เจอน้ำยาฉีดศพปนผัก-เนื้อสัตว์เกลื่อนตลาดสด สธ.แนะวิธีสังเกตhttp://www.dailynews.co.th/Content/regional/218300/เจอน้ำยาฉีดศพปนผัก-เนื้อสัตว์เกลื่อนตลาดสด+สธ.แนะวิธีสังเกต [2014, March 11].
  2. Formaldehyde. http://en.wikipedia.org/wiki/Formaldehyde [2014, March 11].
  3. What is formalin ? http://www.wisegeek.org/what-is-formalin.htm [2014, March 11].